Branding

‘ดับบลิวเอชเอ’ หว่านงบลงทุนปีนี้ 5.2 หมื่นล้าน เร่งเครื่องพัฒนานิคมฯ เพิ่ม

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป เตรียมงบลงทุนปีนี้ 5.2 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้าขายที่ดิน 1,400 ไร่ ควบคู่เดินหน้าสร้างโครงการใหม่และยอดเช่าพื้นที่โลจิสติกส์รวม 250,000 ตร.ม. เล็งขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 1.5 แสนตร.ม. หลังปี 62 เติบโต 22% สวนกระแสเศรษฐกิจ

HLP1 v3

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ได้วางเป้าหมายจะมีรายได้และส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นราว 15% จากปีก่อน ตั้งเป้าอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) ที่ 40% และเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต จะใช้งบประมาณในการลงทุนช่วงปี 2563 – 2567 ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท

ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ไว้ 5 ข้อ โดยมุ่งสู่ความเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจหลักของบริษัท, ขยายธุรกิจในต่างประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น, สร้างพอร์ทโฟลิโอของบริษัทให้เติบโตมากขึ้นด้วยโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับลูกค้า, ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ผสานกำลังธุรกิจทุกภาคส่วนของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ให้มากยิ่งขึ้น และเดินหน้าทรานส์ฟอร์มสู่องค์กรดิจิทัล

ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ จะเดินหน้าแสวงหาโอกาสผนึกกำลังกับพันธมิตรในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ซ โดยจะเน้นไปที่สินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การแปรรูปอาหาร ตลอดจนการบิน โลจิสติกส์ และโรโบติกส์

จรีพร
จรีพร จารุกรสกุล

 

นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณลักษณะใหม่ ๆ ให้กับคลังสินค้าอัจฉริยะ โครงการใหม่ ๆ ที่เตรียมเปิดตัว รวมถึงโครงการอีคอมเมิร์ซและการเช่าใหม่ในปี 2563 โดยตั้งเป้ายอดเช่าอาคารไว้ที่ 250,000 ตารางเมตร ซึ่งจะทำให้ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,560,000 ตารางเมตร

นอกเหนือจากพื้นที่คลังสินค้าที่มีอยู่ในประเทศไทยและในอินโดนีเซียแล้ว ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ยังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในเวียดนามด้วย ทั้งนี้ในปี 2563 ยังมีแผนขายสินทรัพย์เข้ากอง REIT ราว 150,000 ตร.ม.

สำหรับดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) จะมุ่งตอกย้ำตำแหน่งผู้นำในประเทศไทย ด้วยการสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ของกลุ่ม (นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36) ในช่วงปลายปี 2563 และขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่อีก 3 แห่งภายในปี 2566

2 3

นอกจากนี้จะพัฒนาแนวคิด “Smart Eco Industrial Estates”  ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเร่งนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้กับทุกบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ตั้งแต่ระบบการติดตามออนไลน์ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนา “ระบบขนส่งอัจฉริยะ” (Smart Mobility) ไปจนถึงการควบคุมจราจรและการใช้โดรนเพื่อสร้างระบบ “ความปลอดภัยอัจฉริยะ” (Smart Security) หรือระบบ FTTx และคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อน “การสื่อสารอัจฉริยะ” (Smart Communication)

ขณะที่ธุรกิจในประเทศเวียดนาม ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จะพยายามเร่งยอดขายเพื่อดึงดูดนักลงทุนมายังเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน หนึ่งในโครงการที่ได้มาตรฐานสูงสุดในพื้นที่ภาคกลางตอนเหนือ ของประเทศเวียดนาม ในขณะเดียวกันจะพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือของเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน 1 – เหงะอาน เฟส 1 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติใบอนุญาตจากรัฐบาลเวียดนาม

4

ด้านดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) จะขยายธุรกิจ พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการน้ำรูปแบบใหม่ และเสริมพอร์ทด้านพลังงานด้วยนวัตกรรมโซลูชันพลังงาน
ด้านสาธารณูปโภค พร้อมทั้งจะขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม และจะให้บริการโซลูชันทรัพยากรน้ำหลากหลายรูปแบบ ทั้งการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ การผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุ และการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด

พร้อมกันนี้ จะพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน หลังจากเปิดบริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยจะยังคงทำงานร่วมกับพันธมิตรระยะยาวในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก อาทิ กัลฟ์ และด้านการส่งก๊าซธรรมชาติร่วมกับมิตซุย และโตเกียว แก๊ส อีกทั้งได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน รวมถึงดำเนินการด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ สมาร์ทไมโครกริด และการกักเก็บพลังงาน

1 3

ปิดท้ายที่ ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ตั้งเป้าสนับสนุนการดำเนินงานทุกรูปแบบในทุกฮับของกลุ่ม โดยช่วงปลายปี 2563 จะมีการติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนในนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่งจากทั้งหมด 10 แห่งในประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพการเชื่อมต่อด้านดิจิทัลภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ยิ่งไปกว่านั้น อาศัยจากฐานลูกค้าขนาดใหญ่ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม จะส่งผลดีกับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ด้วย

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป มีผลประกอบการและส่วนแบ่งกำไรรวมมูลค่าราว 1.35 หมื่นล้านบาท และมูลค่าสินทรัพย์โดยรวม 8.2 หมื่นล้านบาท มีลูกค้าใหม่ทั้งหมด 80 ราย และมีสัญญาซื้อที่ดินและเช่าโรงงานจำนวน 130 ฉบับ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ารวม 900 ราย จากสัญญารวมทั้งสิ้น 1,450 ฉบับ

“แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ผลการดำเนินงานของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป สามารถเติบโตได้ 22% ขณะเดียวกันเรายังคงเดินหน้าพัฒนาธุรกิจทั้ง 4 กลุ่มของบริษัทอย่างต่อเนื่องพร้อมรุกตลาดในไทยและเวียดนาม” นางสาวจรีพร กล่าวปิดท้าย0

Avatar photo