Auto

ปตท. กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ความท้าทายที่ไกลกว่าพลังงาน

ปตท. เร่งลงทุนกลุ่มธุรกิจพลังงานอนาคตธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนา EV Value Chain ทั้งระบบ ภายใน 3 ปีข้างหน้า คนไทยอาจได้เห็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์ของไทย 

หลังจากประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ Powering Life with future energy and beyond หรือ ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งชีวิต เพียงไม่ถึงเดือน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์  (Foxconn) ผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกจากไต้หวัน

EV ปตท. e1633002497235

ปตท. ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร

การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ปตท. ให้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้น 100% เป็นผู้ลงนามสัญญาร่วมทุน และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn) ถือหุ้นทั้งหมด

บริษัทร่วมทุนนี้มี ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3,220 ล้านบาท โดย อรุณ พลัส และ ลี่ยี่อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนต์ ถือหุ้นในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย

การร่วมทุนในครั้งนี้ จะมีการตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เพื่อผลักดันให้ไทยไปสู่ศูนย์กลางอาเซียน โดยจะมีการวางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1–2 พันล้านดอลลาร์ รองรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานในอนาคต

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การร่วมทุนดังกล่าวเพื่อสร้างฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย”

thumbnail JVA PTT Foxconn 1 e1632719109957

โดยใช้ความเชี่ยวชาญของฟ็อกซ์คอนน์ ทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในการผลิต และพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้า ผสานกับองค์ความรู้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต และเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น

บริษัทร่วมทุนจะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในประเทศไทย ด้วยบริการครบวงจร ทั้งการออกแบบ ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ตลอดจนผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Platform  Drivetrain หรือ Motor โดยแผนลงทุนในช่วง 5–6 ปี จะเริ่มจากการสร้างโรงงานใหม่ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในพื้นที่ EEC ภาคตะวันออก โดยจะมีการวางระบบการผลิต การบริหาร Supply Chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม

 

EV Charger PTT scaled e1633003786497

โรงงานที่จะสร้างขึ้นจะสามารถผลิต รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ทั้งคัน ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะของ ฟ็อกซ์คอนน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีทั้ง Hardware และ Software ที่จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการพัฒนารถ EV ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาด EV และพลิกโฉมภาคการพัฒนาและผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโดยรวมได้

เบื้องต้นจะใช้เวลาประมาณ 2–3 ปี ในการเตรียมความพร้อมและเริ่มผลิตออกสู่ตลาด โดยมีเป้าหมายการผลิตในระยะแรก 50,000 คัน ต่อปี และขยายเป็น 150,000 คัน ต่อปี ในอนาคต

การลงนามกับ ฟ็อกซ์คอนน์ นับว่าเป็นก้าวสำคัญของกลุ่ม ปตท. ในการมุ่งสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพราะนอกจากมีการตั้ง อรุณ พลัส เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ EV ครบวงจรแล้ว ปตท. ยังมีการจัดตั้ง EVme PLUS เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม รองรับระบบนิเวศทางธุรกิจของ EV อีกด้วย

ยานยนต์ไฟฟ้า

โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ยังได้เปิดตัว Swap & Go แพลตฟอร์มให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบบไม่ต้องรอชาร์จ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องใน กลุ่ม Delivery Service ที่มีการเติบโตสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 22 แห่ง ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และพื้นที่เอกชนอื่น ๆ ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ

จากการเตรียมพร้อมของ ปตท. รองรับกระแสยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างระบบนิเวศธุรกิจ แม้ อรรถพล จะบอกว่า “ในช่วงต้นจะเป็นการรับจ้างผลิตเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด” แต่หากพิจารณา เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ และทิศทางกลยุทธ์การลงทุนในกลุ่มพลังงานอนาคต (Future Energy) ที่ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้มากถึง 15% และศักยภาพของโรงงานแห่งนี้ อาจเป็นไปได้สูง ที่ในอนาคตคนไทยจะได้เห็นยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบรนด์ของคนไทย โลดแล่นบนท้องถนนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo