ตลาดรถรักษ์โลกอย่าง Electric Vehicles (EV) กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันที่แทบทุกแบรนด์ต่างลงมาชิงส่วนแบ่งตลาดแล้วอย่างเต็มตัว โดยในปี 2561 นี้ มีการคาดการณ์ว่า ยอดขายรถ EV มีแนวโน้มเติบโตสู่ 1.9 ล้านคัน โดยมีตลาดหลักคือจีนแผ่นดินใหญ่ที่รัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนการใช้รถ EV เต็มสูบ ขณะที่ประเทศไทย เริ่มเห็นแนวโน้มการเติบโตหลังค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) ประกาศยอดขายของบริษัทในปี 2560 ที่ผ่านมาว่าในยอด 14,484 คันนั้นเป็นรถ EV ประเภทปลั๊กอินไฮบริดถึง 40% หรือมากกว่า 5,700 คันเลยทีเดียว
โดยตัวเลขยอดขายรถ Plug-in ทั่วโลกในปี 2560 นั้นแตะที่ 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึง 58% โดยเฉพาะรถ BEV (Battery Electric Vehicle) ในจีนที่พบว่ามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เฉพาะในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่พบว่าเป็นอีกเดือนที่ควรได้รับการบันทึกเอาไว้ เนื่องจากสามารถส่งมอบรถยนต์ได้มากกว่า 170,000 คันทั่วโลก สูงกว่าตัวเลขการส่งมอบในเดือนพฤศจิกายน 17% ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนหลังของปี 2560 นั้น ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ EV ทั่วโลกแตะที่ 2% เป็นครั้งแรก (อ้างอิงจาก EV-Volumn)
ขณะที่คาดการณ์ของปี 2561 นั้น ระบุว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านคัน โดยส่วนหนึ่งมาจากการปรับนโยบายของทางการจีน กับอีกส่วนหนึ่งคือการคาดหวังว่าเทสล่า (Tesla) โมเดล 3 จะสามารถส่งมอบได้ตามกำหนดนั่นเอง ซึ่งจากการคาดการณ์ของ EV-Volumn ผ่านปัจจัยเหล่านี้ ทำให้คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปี 2561 นี้ เราจะมีรถปลั๊กอินและรถบรรทุกขนาดเบาวิ่งอยู่ทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคันเลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย จากการเปิดเผยของนายฟรังค์ ชไตน์อัคเคอร์ รองประธานบริหารฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 14,484 คัน ซึ่งในจำนวนนี้ 40% เป็นรถปลั๊กอินดังกล่าว โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการเติบโตนั้น คาดว่ามาจากการเตรียมความพร้อมด้านจุดชาร์จแบตเตอรี่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุง ไปจนถึงโรงแรมประมาณ 160 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทางเมอร์เซเดส-เบนซ์ระบุว่าเป็นการเติบโตที่น่าพอใจมาก อีกทั้งยังสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วง 1 – 2 ปีนับจากนี้ ตลาดรถ EV ในประเทศไทยจะมีความคึกคักมากขึ้นจากการบุกตลาดของแบรนด์ใหม่ ๆ เช่น นิสสัน ลีฟ (Nissan Leaf), แบรนด์ Fomm รวมถึงแบรนด์รถยนต์ EV สัญชาติไทยอย่าง MINE Mobility ในเครือของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)
โดยนิสสันคาดการณ์ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบริษัทนั้นจะมียอดขายในสัดส่วน 40% ของยอดขายทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปภายในปี พ.ศ. 2565 รวมถึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 50% ภายในปี พ.ศ. 2568 ด้วย
แต่ที่คึกคักและเป็นที่จับตาจากทั่วโลกมากที่สุดหนีไม่พ้นตลาดจีน จากตัวเลขของ EV-Volumn พบว่า จีนครองส่วนแบ่งตลาดรถปลั๊กอินทั่วโลกเอาไว้ได้ถึง 45% ส่วนในสหภาพยุโรปเอง พบว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้น 39% โดยประเทศเยอรมนี ไอซ์แลนด์ โปรตุเกส และสโลเวเนีย เป็นประเทศที่ตลาดมีการเติบโตอย่างน่าสนใจ
ด้านสหรัฐอเมริกา ก็มีการเติบโตเช่นกัน แต่อาจช้ากว่าภูมิภาคอื่น ๆ สาเหตุเป็นไปได้ว่ามาจากการส่งมอบรถยนต์ของค่ายเทสล่าที่ล่าช้า จากปัญหาด้านกระบวนการผลิตที่ซีอีโออย่างอีลอน มัสก์ ถึงกับเคยทวิตเอาไว้เมื่อช่วงเดือนตุลาคมว่าเป็น Production Hell เลยทีเดียว
ส่วนการที่แต่ละประเทศจะก้าวไปได้ไกลแค่ไหนนั้น นอกจากเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ว่ามีสถานีชาร์จไฟเพียงพอหรือไม่แล้ว นโยบายจากภาครัฐก็มีส่วนสำคัญ ซึ่งรายชื่อของประเทศที่ให้การสนับสนุนรถ EV มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกนั้น นอกจากจะมีประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว จีนและอินเดียก็มีปรากฏชื่ออยู่ในทำเนียบดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะกรุงปักกิ่งที่มีการประกาศแผนว่าจะเปลี่ยนรถแท็กซี่ 70,000 คันให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา