Business

ราคายาง ‘ผันผวน’ จากโควิด-สงคราม สั่ง กยท.ขยายมาตรการชะลอขายยาง

“อลงกรณ์”ชี้ราคายางยังผันผวน จากผลกระทบโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้ไทยส่งออกยางธรรมชาติทะลุ 2 แสนล้าน เพิ่มขึ้นกว่า 20%

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง ครั้งที่ 5/2565

ราคายาง

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ ตลาดยางพารา ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญจากทูตเกษตร ประจำสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก

จากรายงานสถานการณ์การผลิต การค้า และการแข่งขันของตลาดยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางทั่วโลก รวมถึงรายงานสถานการณ์ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกยาง และผลิตภัณฑ์ยางไทย

สำหรับสถานการณ์การส่งออกยาง และผลิตภัณฑ์ยางไทยไปยังรัสเซีย ยังคงหดตัว อีกทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนักอยู่ในระยะ Wait and see mode และสต็อกยางในรัสเซียยังล้นตลาดถึง 43%

ส่วนสหรัฐ เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนยังคงรุนแรง หลายพื้นที่ล็อกดาวน์ พบผู้ติดเชื้อสูง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าในจีน ซึ่งจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลกระทบต่อราคาและการส่งออกยางพาราของไทย

ฝ่ายเศรษฐกิจยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 2565 มีปริมาณ 4.754 ล้านตัน ในช่วงไตรมาส 4/65 มีปริมาณผลผลิตยางพาราสูงกว่าทุกไตรมาส ปริมาณ 1.432 ล้านตัน การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน

อลงกรณ์
อลงกรณ์ พลบุตร

ขณะที่ช่วงเดือน ตุลาคม-ธันวาคม 2565 คาดการณ์ว่าปริมาณการส่งออกอาจจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ปริมาณสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติของไทย ปี 2565 (ม.ค.-ก.ย. 2565) มีมูลค่า 216,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด มูลค่า 107,352 ล้านบาท

รองลงมา ได้แก่ มาเลเชีย มูลค่า 19,153 ล้านบาท สหรัฐ มูลค่า 15,414 ล้านบาท ญี่ปุ่น มูลค่า 11,905 ล้านบาท เกาหลีใต้ มูลค่า 9,891 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ มูลค่า 52,813 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานเรื่องแพลตฟอร์มเพื่อการบูรณาการองค์ความรู้และนวัตกรรม (Field for Knowledge Integration and Innovation : FKII) และรายงานความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพารา (Rubber Valley)

รวมทั้ง ยังรับทราบความคืบหน้าร่างกฎหมาย Deforestation Free Product ของสหภาพยุโรป หรือ EU ที่มีข้อกำหนดว่า สินค้าที่นำเข้ามาวางจำหน่ายในสหภาพยุโรป ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า หรือการทำให้ป่าเสื่อมสภาพ จะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 6 ชนิด ได้แก่ เนื้อวัว ถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม โกโก้ ไม้ กาแฟ และผลิตภัณฑ์จากสินค้าเหล่านี้

shutterstock 522105436

สาระสำคัญตามมาตรา 3 (Prohibition) สรุปได้ดังนี้ คือ

1. สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในสหภาพยุโรป จะต้องเป็นสินค้าที่ปลอดจากการทำลายป่า (Deforestation Free)

2. การผลิตเป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต มีการจัดทำ Due Diligence (ข้อมูลและเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปตามมาตรา

3. มีระบบการควบคุมคุณภาพตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และสถานที่ผลิตได้

นอกจากนี้ ยังมีกลไกในการตรวจสอบ ดังนี้

1. จะมีการจัดกลุ่มประเทศผู้ผลิต (Country Benchmarking System) และแบ่งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงมาตรฐาน

2. ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกระบวนการทำหรือการตรวจสอบย้อนกลับถึงผู้ผลิต และมีการทบทวนทุก 2 ปี

ที่ประชุมมีมติให้ กยท. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป (กรุงบรัสเซลส์) และประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้ กยท. รายงานความคืบหน้าในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำสวนยางยั่งยืนให้ที่ประชุมทราบในการประชุมครั้งหน้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo