Business

‘สงคราม-ภัยธรรมชาติ’ เป็นทั้ง ‘โอกาส-ความท้าทาย’

กลุ่ม ปตท. ดึงกูรูร่วมวิเคราะห์วิกฤติพลังงานผันผวน เผชิญความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ชี้เป็นทั้งโอกาส และความท้าทาย ต้องปรับตัวสร้างสมดุลแหล่งพลังงาน สร้างความมั่นคง และยั่งยืน

กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกลุ่ม ปตท. ร่วมจัดสัมมนาออนไลน์ 2022 The Annual Petroleum Outlook Forum ภายใต้หัวข้อ Thriving amid Global Energy Volatility towards Sustainable Future-เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก เพื่อเจาะลึกถึงปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจพลังงาน และหาทางออกเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

วิกฤติพลังงาน

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศ หลังโควิด-19 คลี่คลาย ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงาน และราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และยังส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศ เข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ท่ามกลางสภาวะวิกฤติพลังงาน ทำให้หลายประเทศ หันมาให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และการเข้าถึงพลังงานเป็นประเด็นหลัก อีกทั้งจาก สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่แปรปรวน (Climate Change) รวมถึงภัยธรรมชาติ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน จึงควรตระหนัก และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจริงจัง

03EE8440 D84A 458B 9402 1E403BB5C0C5

นับเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ต้องสร้างสมดุลใน 3 มิติ ได้แก่ 1. การเข้าถึงพลังงานได้ในราคาที่เหมาะสม 2. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต และ 3. การรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของหัวข้อการจัดสัมมนาในวันนี้คือ เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนของพลังงานโลก 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานว่า สถานการณ์พลังงานโลกปัจจุบันเรียกว่าอยู่ท่ามกลางความผันผวนจากโควิด-19 และวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศ จากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ต้องชะงักงันจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ จนนำไปสู่วิกฤติพลังงานในหลาย ๆ ประเทศ

แม้หลายประเทศต่างหันไปหาพลังงานทางเลือกสำรอง แต่น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ยังคงเป็นพลังงานหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติ ที่มีความสำคัญเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน และเศรษฐกิจ

DFB17F55 7610 45DB 839F 62D73884CD0D

ท่ามกลางความผันผวนนี้ แม้ว่าไทยจะสามารถจัดหาพลังงานได้เพียงพอกับความต้องการใช้ และขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน แต่ก็ยังมีความท้าทาย ในการ สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางด้านพลังงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงไปทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน

กลุ่ม ปตท. ได้ปรับทิศทาง และกลยุทธ์ขององค์กร มุ่งพัฒนาพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ ตอบรับทิศทางโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร นอกเหนือจากการร่วมผลักดันการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งเป้าหมายให้ สำเร็จเร็วกว่าเป้าหมายประเทศกำหนด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ

3 13

“ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า กลุ่ม ปตท. และกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างสมดุล และยั่งยืน”

จากนั้น เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน Oil Market Outlook นำเสนอทิศทางและสถานการณ์พลังงานโลก โดยทีม PRISM Experts

สงครามรัสเซีย-ยูเครนกระทบพลังงานโลก

นายสิรวิชญ์ สมรัตนกุล  PRISM Expert กล่าวในประเด็น วิกฤติอุปทานน้ำมัน ว่า หลังจากที่ประชาชนเติมน้ำมันที่แพงตลอดทั้งปี 2565 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลาดน้ำมันโลกได้รับผลกระทบจาก สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างมาก จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สะท้อนเป็นวิกฤติอุปทานน้ำมันโลก

แต่หากย้อนไปดูราคาน้ำมันในอดีต ราคาน้ำมันได้รับผลกระทบด้านดีมานด์ และซัพพลาย โดยหลัก ๆ จะเป็นผลกระทบด้านซัพพลาย เช่น เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มโอเปคเคยมีมติปรับลดกำลังการผลิต จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 100 ดอลลาร์กว่าบาร์เรล เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี

แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดเทคโนโลยี ที่สหรัฐสามารถคิดค้นนวัตกรรมจากชั้นหินมาได้ จึงทำให้มีการเพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

สิรวิชญ์ สมรัตนกุล
สิรวิชญ์ สมรัตนกุล

นอกจากนี้ ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จนทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงอีกครั้ง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียเเละยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกสร้างความวิตก เเละยังคงรุนแรง ยืดเยื้อ

ขณะที่หากมองบทบาทรัสเซียกับน้ำมันในตลาดโลก จากการที่รัสเซียมีกำลังผลิตน้ำมันดิบมากถึง 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองเพียงแค่สหรัฐที่จะเน้นการใช้ในประเทศ โดยรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นรองแค่ซาอุดีอาระเบีย ทำให้ตลาดกังวลผลกระทบที่ตามมาว่าซัพพลายจากรัสเซียอาจได้รับผลกระทบจากสงคราม

ปกติรัสเซียส่งออกไปยังตลาดยุโรปมากถึง 50% และมีการส่งออกไปด้วยหลากหลายช่องทาง ทั้งทางเรือ ทางท่อ ไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่เพียงแค่ยุโรป แต่หมายรวมไปถึงในแถบเอเชีย แต่จากสงครามที่เกิดขึ้น ทำให้นานาชาติมีมติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย และไม่นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ทั้งสหรัฐ อังกฤษ และยุโรป ตลาดจึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากรัสเซียถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนจาก ความกังวลจากซัพพลายของรัสเซีย จนราคาแตะ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยืนระดับกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลอดไตรมาส 2 ของปี 2565

รัสเซียส่งออกน้ำมัน

จับตา Game Changer ดันอุปทานน้ำมันดิบ

1. น้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์ ของแต่ละประเทศ ปัจจุบันสต็อกลดลงมาก

2. กลุ่มโอเปคพลัส กำลังการผลิตสำรองลดลงจากช่วงที่ผ่านมา และเพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาดแล้วกว่า 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ยังไม่สามารถผลิตได้ตามแผนที่วางไว้

3. กลุ่มผู้ผลิตนอกโอเปค กลุ่มนี้เพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาดแล้วกว่า 2.1 ล้านบาร์เรล นำโดยสหรัฐ แคนาดา และบราซิล

ขณะที่รัสเซียหันมาส่งออกทางเอเชียมากขึ้น ทำให้ปริมาณการส่งออกไม่ได้ลดลง เช่น ส่งออกจีน อินเดีย อย่างไรก็ตาม การส่งออกมาเอเชีย ทำให้เพิ่มระยะเวลา ระยะทางมากขึ้น และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ทำให้ราคายังสูงระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดังนั้นในภาพรวมจะเห็นได้ว่า ซัพพลายโดยรวมแทบไม่ได้หายไป ขณะที่กลุ่มนอกโอเปค เติมซัพพลายเข้ามาในตลาดมากเกินไป ทำให้ราคาปรับตัวลดลง

แต่ความผันผวนนี้ยังไม่จบต้องดูในปีหน้า เริ่มจากรัสเซียที่ซัพพลายจะปรับตัวลดลง 8 แสนบาร์เรลต่อวันจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จับตาการนำเข้าของเอเชียว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน

ในส่วนของน้ำมันดิบสำรองเชิงยุทธศาสตร์ มีโอกาสน้อยที่จะเพิ่มซัพพลายเข้ามาในตลาด จึงต้องพึ่งกลุ่มโอเปคพลัส และกลุ่มนอกโอเปค ว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันได้มากน้อยขนาดไหน คาดว่าซัพพลายจากกลุ่มนอกโอเปคจะเข้ามาในตลาดไม่ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วน กลุ่มโอเปคพลัส คาดว่าจะมีซัพพลายเข้ามาในตลาด 6 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ทำให้ในปีหน้าคาดว่าจะมีซัพพลายเข้ามาในตลาด 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

รวมถึงประเด็นการยกเลิกคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และเวเนซุเอลา ที่อาจเป็น Game Changer ในการเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบเข้ามาในตลาด

นิธิภัทร 1

นายนิธิภัทร แสงดาวฉาย PRISM Expert กล่าวถึงทิศทาง อุปสงค์ของน้ำมันในตลาดโลก ว่า โลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยปีนี้ที่มีการคาดการณ์จีดีพีโต 3.9% พอเกิดสงครามเหลือเพียง 3.2% เมื่อเอาเงินเฟ้อมาเปรียบเทียบอีกก็พบว่าสูงถึง 8.8%

การที่เงินเฟ้อสูงกว่าจีดีพี เป็นผลมาจากรัสเซีย เพราะรัสเซียส่งออกสินค้าสำคัญของโลก อาทิ เหล็ก พาราเดียม น้ำมันดอกทานตะวัน ข้าวสาลี ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ส่งผลให้ราคาแพงที่สุดในรอบ 14 ปี

นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นสินค้าทดแทน ส่งผลให้ ราคาน้ำมันปาล์มแพงเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจากสงครามทั้งหมดทำให้ราคาหลาย ๆ สินค้าและราคาพลังงานแพงขึ้น จึงส่งผลต่อการดำรงชีวิต

ทั้งนี้ ในปีหน้า 2566 กลุ่ม PRISM คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากปีนี้ที่อยู่ที่ 99 ดอลลาร์ต่อบาเรล

อย่างไรก็ดี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้นถือว่ายังสูง หากเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่านั้น แต่ราคาอาจจะเเกว่งตัวกับความผันผวน ความไม่แน่นอนที่ไม่ใช่เเค่เรื่องของสงคราม ยังมีเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงและไม่แน่นอน ปรากฎการณ์ฮีทเวฟจากอากาศที่หนาวจัด ร้อนจัดในรัฐเท็กซัส

นิธิภัทร

นโยบาย 2 ขั้วอำนาจโลก ดันดีมานด์ผันผวน

เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ปีที่แล้วกับปีนี้มีความต้องการเพื่อผลิตไฟฟ้าจาก 5-7 เเสนบาร์เรลต่อวัน แต่หากปีนี้หรือปีหน้าอากาศแปรปรวนก็ส่งผลต่อราคาก๊าซ บวกกับความยืดเยื้อสงครามที่รัสเซียลดการส่งออกไปยังยุโรป หากยุติส่งออกก็ยิ่งมีผลกระทบอย่างมาก และยิ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและแก๊สโซลีน น้ำมันเจ็ต ก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควร เป็นผลมาจากจีนยังไม่เปิดประเทศ มากไปกว่านั้นการที่สหรัฐเข้ามาแทรกแซงไต้หวัน ก็ย่อมส่งผลต่อการเมืองทั้งหมดจึงต้องขึ้นอยู่กับจีน และขึ้นอยู่กับนโยบายผู้นำ สี จิ้นผิง จะกำหนดทิศทางอย่างไร

ขณะที่ปัจจุบันการผลิตน้ำมันจะดูจากโอเปคอย่างเดียวต่อไปไม่ได้ ต่อจากนี้ต้องดูจาก นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่ขณะนี้ยังไม่มีท่าทีลดลง และเร็ว ๆ นี้กลุ่ม G7 ตั้งเพดานกดดันรัสเซียจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งนาโต้ที่เริ่มมีสัญญาณการเข้าร่วมของฟินแลนด์และสวีเดน จะส่งผลมากขึ้นอีกอย่างไร

ดังนั้นโลกพลังงานยังคงผันผวนจากหลายปัจจัย สิ่งที่ทุกคนทำได้ขณะนี้คือ ต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน และไม่ประมาท

เดชาธร
เดชาธร ฐิสิฐสกร

สร้างสมดุลคือทางออก

นายเดชาธร ฐิสิฐสกร PRISM Expert กล่าวว่า ภาวะการณ์ของโลกมาถึงจุดวิกฤติที่ท้าทายด้านพลังงาน โดยโลกเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ โรคระบาด ภัยสงคราม ที่ส่งผลโดยตรงต่อราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบเป็นโดมิโนถึงต้นทุนผลิตสินค้าทุกชนิด ถึงเวลาเเล้วที่โลกต้องเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงจากภัยธรรมชาติ มีตัวแปรมาจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น (Globol Climate change) กระทั่งสหประชาชาติ (UN) มาร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมลงนามสัตยาบัน Carbon Neutral ปี 2050 เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

เช่นเดียวกับไทยที่รัฐบาลกำหนดนโยบาย ในหลากหลายมาตรการทั้ง EV คาร์บอนเครดิต ปลูกป่า พลังงานหมุนเวียนที่เกิดการลงทุนท่ามกลางความท้าทาย Energy disruption หรือรัสเซีย และนาโต้ ที่มีข้อต่อรองด้านพลังงาน ด้วย

นอกจากนี้ โลกจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ในรูปแบบ Deglobalization Impacted ที่แบ่งข้างกันอย่างชัดเจน ดังนั้นจะเห็นว่า สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเอง เช่น จีน เพื่อลดการพึ่งพาชาติตะวันตก ดิจิทัล อุตสาหกรรมใหม่ ๆ (New S-curve) หรือ อินเดีย สร้างอุตสาหกรรมอวกาศขึ้นมาเอง

เดชาธร1

ทางออกเพื่อความยั่งยืนทางด้านพลังงานให้กับโลกของเราต่อไปในอนาคตนี้ คือการสร้างเสถียรภาพของพลังงานจากพลังงานฟอสซิลก่อน เมื่อโลกของเราได้มีการฟื้นตัวทางด้านของเศรษฐกิจแล้ว และเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนมีราคาที่ถูกลงและมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงตอนนั้นก็จะสามารถมาดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกเราให้มีความยั่งยืนต่อไป ดังรูปทรงของสามเหลี่ยม PRISM ที่มีการสร้างสมดุลระหว่างโครงสร้างทั้ง 3 คือ เศรษฐกิจ-พลังงาน-สิ่งแวดล้อม

ฝ่าวิกฤติพลังงานสู่ความยั่งยืน

ปิดท้ายด้วยการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติพลังงานสู่ความยั่งยืน” เริ่มจาก นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ผลจากโควิด-19 ส่งผลต่อราคาน้ำมันที่ลดลงจากการล็อกดาวน์ รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ ตรึงราคาเชื้อเพลิง จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลดค่าไฟ กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายกลางปี 2564 ราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้นมาจาก 40 เป็น 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กุลิศ ปลัดพลังงาน
กุลิศ สมบัติศิริ

ประกอบกับโอเปคพลัสลดกำลังผลิต ส่งผลต่อดีมานด์จนถึงเดือนมกราคม 2565 ก่อนเกิดความขัดเเย้งรัสเซีย-ยูเครน จนกระทั่งเกิดสงคราม ส่งผลต่อราคา LPG LNG น้ำมัน ค่าไฟมีการสนับสนุนเพิ่มเงินเพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันทุกชนิด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานไม่ได้นิ่งนอนใจ หากปลายปีนี้เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรป ได้เตรียมแผนเร่งดำเนินการ โดยกรณีที่ราคา LNG สูงเกิน 50 ดอลลาร์ โดยปีนี้ไทยนำเข้า LNG ประมาณ 40% จึงต้องเร่งปริมาณการผลิตแหล่งก๊าซในอ่าวไทย  ให้มากขึ้น รวมถึงใช้น้ำมันดีเซลทดแทนในการผลิตไฟฟ้า และกลับมาใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลระยะหนึ่ง รวมทั้งซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว มากขึ้น

ด้านแผนระยะยาว ยังคงต้อง ลงทุนพลังงานสะอาด โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2583 และผลิตรถยนต์ EV ที่มีแนวโน้มเพิ่มถึง 200% ในปีนี้

ขณะเดียวกัน ยังวางเป้าหมายผลิตพลังงานสะอาดโดยรวมให้ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปี  รวมทั้งต่อจากนี้การขายไฟฟ้าจะต้องมาจากพลังงานสะอาด และออกกฎระเบียบเงื่อนไขทางการค้าให้ได้ ทั้งหมดนี้เป็นเมกะเทรนด์ที่จะตอบโจทย์ความมั่นคงทั้งในระยะสั้น รวมถึงวางแผนระยะยาว โดยมีปัจจัยทั้งจากการพัฒนาระบบ Smart grid และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

แบงก์ชาติ
ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 จีดีพีไทยติดลบ 62% แบงก์ชาติได้ให้การช่วยเหลือ 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1. ลดอัตราดอกเบี้ย 2. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัว และ  3. การปรับโครงสร้างหนี้

ขณะที่ภาคการเงินของไทยต้องมีการปรับนโยบายหนี้ครัวเรือน เปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องปรับแนวคิดการจัดการข้อมูลสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การจัดสรรเงินทุนที่เหมาะสม อาทิ หากใครทำธุรกิจที่เป็น Green จะได้รับสิทธิที่มากกว่า โดยทั้งเอกชน รัฐบาล ต้องปรับตัวตระหนักรู้ เปลี่ยนผ่านสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกัน

นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากโควิด-19  และวิกฤติพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ทุกประเทศอยู่ในสภาวะเดียวกัน ส่งผลให้มีข้อตกลงร่วมกันในการประกาศเจตจำนงความเป็นกลางทางคาร์บอน

องค์กรก๊าซเรือนกระจก
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์

ดังนั้น แทนที่ไทยจะมองเพียงเเค่เรื่องเศรษฐกิจ ต่อไปต้องมองข้ามช็อตไปถึงโอกาสในการสร้างเงื่อนไขสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างอำนาจทางการค้าให้กลับมาและเกิดการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ก่อนหน้านี้ราคาฟอสซิลผันผวนมาก แต่กลับเกิดโอกาสในการสร้างพลังงานหมุนเวียน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินควบคู่กัน

สิ่งที่สำคัญคือ แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต กำหนดภาษี ประเมินราคา มีองค์กรกลางควบคุมกำกับให้เกิดบรรยากาศการลงทุนและเทคโนโลยี ดิจิทัล ระบบกักเก็บคาร์บอน และปรับโครงสร้างอยู่ระหว่างก่อตั้งหน่วยงานใหม่ ที่ดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศโดยตรง กลางปี 2566 จะเห็นความชัดเจน

กล่าวโดยสรุปคือ วิกฤติพลังงานที่เกิดขึ้น จะต้องเป็นโอกาสและความท้าทายของไทยต่อไป  ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว เพื่อสร้างความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo