Business

ด่วน !!ศาลล้มละลายกลาง ไฟเขียว ‘สินมั่นคงประกันภัย’ ฟื้นฟูกิจการ เช็คขั้นตอนต่อไปที่นี่

ศาลล้มละลายกลาง รับคำร้อง “สินมั่นคงประกันภัย” ฟื้นฟูกิจการ ชี้ยังมีรายได้ ยื่นคำร้องโดยสุจริต และมีหนี้สินล้นพ้นตัวจริง เตือนเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน

จากกรณี สินมั่นคงประกันภัย ประสบภาวะขาดทุน กว่า 30,000 ล้านบาท จากผู้เอาประกันภัยกว่า 3 แสนราย จากการรับประกันภัยโควิด-19  เจอ จ่าย จบ จนทำให้บริษัทฯจำเป็นต้องเข้าพึ่งศาลล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

สินมั่นคงประกันภัย

ล่าสุดวันนี้ (20 ต.ค. 2565) ศาลล้มละลายกลาง ได้พิจารณาคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ 9/2565 บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้/ผู้ร้องขอ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ โดยวันนี้มีเจ้าหนี้ผู้คัดค้านมาฟังคำสั่งศาลประมาณ 25 ราย

ทั้งนี้ ศาลเห็นควรมีคำสั่งให้พื้นฟูกิจการของบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) และตั้งบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สำหรับการรับคำร้องฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ เนื่องจากไต่สวนได้ความจริงว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้เจ้าหนี้หลายคนรวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่กิจการของลูกหนี้ยังมีรายได้ และลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริต

นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้ทำแผน เพราะเป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประกันภัยเป็นเวลานาน มีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าลูกหนี้เข้าใจสภาพปัญหาและสามารถกำหนดทิศทางธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้รับความยินยอมฟื้นฟูกิจการเป็นหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

ส่วนกรณีเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน อ้างว่า ลูกหนี้มุ่งประสงค์ปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะเจ้าหนี้บางกลุ่มนั้น ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลาย ผู้ทำแผนจะต้องตรวจสอบรายละเอียด และความเป็นไปได้ของการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บนหลักการที่ว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ จะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย และเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ

ศาล

ขณะเดียวกัน แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้ และศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้เกิดความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ และเป็นประโยชน์แก่กิจการของลูกหนี้

แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว จะต้องจัดทำขึ้นโดยความยินยอมของเจ้าหนี้ และผู้ทำแผนในฐานะผู้แทนของลูกหนี้ โดยมีหลักประกันว่า เจ้าหนี้จะไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากเดิม แต่หากทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ลูกหนี้ย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้ได้ โดยเฉพาะความร่วมมือจากเจ้าหนี้ค่าเสียหายทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ที่มีสัดส่วนสูงกว่าเจ้าหนี้อื่น ๆ จำนวน 350,000 ราย

นอกจากนั้น การประกอบกิจการของลูกหนี้ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน คปภ. และภายใต้การกำกับดูแลของศาลล้มละลายกลางและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ในขั้นตอนต่อไป สำหรับเจ้าหนี้ที่อาจจะไม่มีที่ปรึกษาทางกฎหมาย หลังจากนี้เจ้าหนี้จะต้องไปแสดงตัวในกระบวนการว่าเป็นเจ้าหนี้สินมั่นคงประกันภัยจริง โดยเจ้าหนี้จะต้องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และแสดงเอกสารข้อมูลพยานหลักฐานว่าเป็นเจ้าหนี้ของสินมั่นคงประกันภัย

ทั้งนี้ เจ้าหนี้จะต้องมีหน้าที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ประกาศคำสั่งลงในราชกิจจานุเบกษา เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งกำหนดลงประกาศคำสั่งในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 20 ธันวาคม 2565 โดยมีช่องทางในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังนี้

1. ยื่นคำขอชำระหนี้ออนไลน์ ทางเว็บไซด์กรมบังคับคดี www.led.go.th

2. ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้ กรมบังคับคดี หรือ สกนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ

3. ยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่าน บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ หรือ สำนักงานสาขาทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ขอให้เจ้าหนี้ติดตามความคืบหน้าของคดีและรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมบังคับคดี www.led go.th ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 สินมั่นคงประกันภัย มีสินทรัพย์ 7,871 ล้านบาท มีหนี้สิน 38,229 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 30,357 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินค่าสินไหมประกันภัยโควิด ขณะที่มีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสด 2,481 ล้านบาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo