Business

เปิดลายแทง 19 เส้นทางท่องเที่ยวเมืองรอง ดันยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวคลัสเตอร์

ความล้ำเหลื่อมเชิงพื้นที่ ความท้าทายท่องเที่ยวไทย แนะ 19 เส้นทางท่องเที่ยวเมืองรอง ดันยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวคลัสเตอร์

ความท้าทายหนึ่งของประเทศไทยที่เผชิญมาตลอด 4 ทศวรรษนับตั้งแต่การเปลี่ยนประเทศเข้าสู่โลกยุคอุตสาหกรรมคือ ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ โดยพบว่า 15 จังหวัดหลักมีสร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวถึง 88% ขณะที่ 62 จังหวัดรองมีสัดส่วนต่อภาคการท่องเที่ยวเพียง 12% เท่านั้น

ท่องเที่ยวเมืองรอง

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นับแต่ยุคบุกเบิกถึงยุครุ่งเรื่องของการท่องเที่ยวไทย การเติบโตด้านการท่องเที่ยวเผชิญกับปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่มาโดยตลอด

ทั้งนี้เนื่องจาก นักท่องเที่ยวมักกระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ๆ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร และการกระจุกตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว

ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาชี้ให้เห็นว่า ระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 วัน ซึ่งคาดการได้ว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยส่วนใหญ่ยังขึ้นอยู่กับวันหยุดยาว 3 วัน 2 คืน หรือ 2 วัน 1 คืน

ข้อมูลจากการวิเคราะห์ mobility data เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยความร่วมมือของดีแทค คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ ชี้ให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไปเช่นเดียวกัน

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย 1
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการจับกลุ่ม (คลัสเตอร์) ของจังหวัดที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปเยือนในทริปเดียวกัน เช่น นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเชียงใหม่ก็มักเดินทางไปยังลำพูนและลำปางด้วย หรือเดินทางไปพิจิตรก็เดินทางไปกำแพงเพชรด้วย เป็นต้น

จากพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด ที่มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดเมืองรองกับจังหวัดโดยรอบ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด เพื่อเพิ่มการเดินทางแบบพักค้างและกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองมากยิ่งขึ้น

จัดคลัสเตอร์จังหวัดท่องเที่ยวผ่านพฤติกรรมการเดินทาง

หนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ 2564-2565 จัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ คือ แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว 15 เขต โดยแบ่งตาม จุดขายร่วมและเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

ตัวอย่างเช่น

  • เขตการพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง และพะเยา
  • เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
  • เขตการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชิตลุ่มน้ำโขง ได้แก่ หนองคาย เลย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร

อย่างไรก็ตาม เขตการพัฒนาการท่องเที่ยวสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ หากมีข้อมูล mobility data ช่วยเสริมการวางแผนพัฒนา เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว

ประเภทคลัสเตอร์

ทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ทำการวิเคราะห์การจับกลุ่มคลัสเตอร์ของจังหวัดเมืองรองกับจังหวัดโดยรอบผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด พบว่าการจับกลุ่มคลัสเตอร์ที่มีเมืองรองเป็นสมาชิกสามารถแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ประกอบด้วย19 กลุ่มจังหวัด ได้แก่

1. กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีจังหวัดเมืองรองร่วมอยู่ด้วย แต่สมาชิกในกลุ่มโดยส่วนใหญ่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 9 กลุ่มจังหวัด

2. กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกโดยส่วนใหญ่เป็นจังหวัดเมืองรองอยู่ร่วมกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 4 กลุ่มจังหวัด

3. กลุ่มเพื่อนเมืองรอง เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นจังหวัดเมืองรอง ประกอบด้วย 5 กลุ่มจังหวัด

4. กลุ่มเมืองฝาแฝด เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกเพียง 2 จังหวัด มีจำนวน 1 คู่

 

ผลการวิเคราะห์จาก mobility data พบว่า มี 7 กลุ่มจังหวัดที่ถือว่าศักยภาพในการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์ เนื่องจากมีปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกลุ่มจังหวัดในระดับสูงมาก ได้แก่

  • นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา (กลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก)
  • ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
  • ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
  • บุรีรัมย์ นครราชสีมา สระบุรี (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
  • สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก (กลุ่มเพื่อนเมืองรอง)
  • ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี (กลุ่มเมืองรองแฝงเมืองหลัก)
  • กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี (กลุ่มเพื่อนเมืองรอง)

19 คลัสเตอร์

สำหรับทั้ง 19 กลุ่มจังหวัดที่มีเมืองรองเป็นสมาชิก สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบคลัสเตอร์ ผ่านการสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว กิจกรรม และเส้นทางท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน ยังสามารถจัดทำโปรโมชั่นที่ท่องเที่ยวที่สามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างจังหวัด หรืออาจพัฒนาไปถึงการสร้าง token สำหรับการท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่มจังหวัดได้ด้วย

โอกาสจากภูมิทัศน์ใหม่การท่องเที่ยว

พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวเป็นกลุ่มจังหวัด (คลัสเตอร์) ในครั้งนี้ ถือเป็น โอกาส ในการขยายฐานนักท่องเที่ยวผ่านภูมิทัศน์แบบใหม่ โดยไม่ได้ยึดถือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ใช้การเดินทางทางอากาศเป็นหลักเท่านั้น

หากแต่ยังทำให้เห็นถึงโอกาสในการสร้างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดรอบข้าง และอาจทำให้จังหวัดเมืองรองสามารถสร้างกลยุทธ์การตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น

ท่องเที่ยว

ที่ผ่านมา นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองยังคงมีลักษณะ one size fits all และกระตุ้นฝั่งดีมานด์เป็นหลัก เช่น นโยบายลดภาษีผ่านการท่องเที่ยว มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

แต่ด้วยความหลากหลายทางการท่องเที่ยวของเมืองรองทั้ง 55 จังหวัด นโยบายแบบที่เป็นที่เป็นลักษณะ Top down อาจทำให้แต่ละจังหวัดไม่สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่นัก

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล Mobility data ช่วยให้นโยบายการพัฒนาเมืองรองสามารถสร้างความสมดุลทางการท่องเที่ยวระหว่างฝั่งดีมานด์และซัพพลายได้เป็นอย่างดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo