Business

การบินไทย ประชุมเจ้าหนี้วันนี้ โหวตแผนฟื้นฟูฉบับใหม่ ‘ลดกู้เงิน’ 

การบินไทย ประชุมเจ้าหนี้วันนี้โหวตแผนฟื้นฟู ฉบับใหม่ ลดความสำคัญการกู้เงิน เน้นแปลงหนี้เดิมเป็นทุน เพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เผย”ปิยสวัสดิ์”ข้อดีแผนใหม่ การบินไทยจะกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นได้ในปี 2568 ออกจากแผนฟื้นฟูได้ในช่วงเดียวกัน   

วันนี้(1 ก.ย.)  การบินไทยจะมีการจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการได้ยื่นคำร้อง ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2565

แผนฉบับใหม่ การบินไทยมั่นใจว่า จะได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ เพราะแผนฟื้นฟูหลักมีการโหวตไปแล้ว ศาลเห็นชอบไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 แต่ต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูอีกครั้ง ซึ่งจะต้องโหวตโดยเจ้าหนี้ในวันนี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ“The Bangkok Insight” 

การบินไทย ประชุมเจ้าหนี้โหวตแผนใหม่วันนี้

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวด้วยว่าในการทำแผนครั้งนี้ เราได้พูดคุยกับเจ้าหนี้หลายราย เจ้าหนี้รายใหญ่ๆได้ทำโรดโชว์คุยกับเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ต่างๆ แล้วที่สำคัญก็คือ มีเจ้าหนี้รายใหญ่ๆ ทั้งหลายอยู่ในนั้น ซึ่งในแผนนี้ก็ผ่านการหารือกับคณะกรรมการเจ้าหนี้มาแล้ว เพราะฉนั้น “ผมคิดและหวังว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ในวันนี้”

ประชุมเจ้าหนี้

นายปิยสวัสดิ์ อธิบายว่าแผนใหม่ที่ปรับแก้ครั้งนี้มีข้อแตกต่างจากแผนเดิมนั่นคือ “แผนเดิม” เริ่มต้นด้วยการหา “เงินกู้” เพราะสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจแย่มาก แล้วเงินก็ไหลออกทุกเดือนออกอย่างรวดเร็วด้วย  มองไม่เห็นเลยว่าเราจะฟื้นตัวธุรกิจการบินจะฟื้นได้เมื่อไหร่ จึงต้องการเงินมาก ก็เลยเน้นเรื่องของการหาเงินกู้ 50,000 ล้านบาท โดยมาจากภาครัฐ 25,000 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 25,000 ล้านบาท แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่าภาครัฐในที่สุดก็ไม่ มาเฉพาะสถาบันการเงิน ภาคเอกชน

จุดเด่นแผนใหม่ลดการกู้เงิน

แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง รวมทั้งประเทศไทย เราก็เห็นการฟื้นตัวของธุรกิจการบินทั่วโลกอย่างชัดเจน รวมทั้งการบินไทยด้วย ในช่วงหลังทำให้กระแสเงินสดของการบินไทยเพิ่มเข้ามาตลอด ทั้งๆที่ยังไม่มีเงินใหม่เข้ามา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีเงินในบัญชี 5,000 ล้านบาท ตอนนี้เงินในบัญชีขึ้นมาสู่ระดับ 17,000  ล้านบาท เพราะฉะนั้นความจำเป็นในการกู้เงินก็ลดลงไปเยอะเลย “แผนใหม่” ลดความสำคัญของการกู้เงิน คือกู้เงินใหม่แค่ 25,000 ล้านบาท โดยเป็นเพียงครึ่งเดียวเป็นเงินกู้ระยะยาว ที่เจ้าหนี้มีสิทธิ์ที่จะแปลงหนี้เป็นทุน ในราคา 2.54 บาท แผนปัจจุบัน

แต่ที่สำคัญในแผนใหม่ก็คือ “จะมีการแปลงหนี้เดิมเป็นทุน มีการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม” ในส่วนนี้แผนปัจจุบันจะไม่มี ทั้งหมดนี้ดำเนินการไปแล้ว ก็จะได้เงินใหม่เข้ามาประมาณ 80,000 ล้านบาท ในส่วนของทุนซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลับมาบวกอีกครั้งในปลายปี 2567หรือต้นปี 2568 ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ ที่จะทำให้หุ้นของการบินไทยสามารถเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งในปี 2568

S 11419775

“เราก็เชื่อว่าแผนที่แก้ใหม่ ประการแรกการบินไทย จะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2568 แล้วก็น่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ในช่วงเวลาเดียวกัน” นายปิยสวัสดิ์ ย้ำ

 

นายปิยสวัสดิ์ ให้ไทม์ไลน์การทำงานจากนี้ไปว่า ถ้าวันนี้ (1 ก.ย.65) ผ่านก็ต้องไปที่ศาล ซึ่งศาลนัดวันที่ 14 กันยายน 2565  ถ้าศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟู ก็รอให้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าอาจจะปลายเดือนกันยายน 2565 หรือต้นเดือนตุลาคม 2565 หลังจากนั้นเราก็เริ่มปฏิบัติตามแผนได้ “ผมคิดว่าภารกิจสำคัญคือ การที่จะออกหุ้นใหม่ที่จะเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ต้องทำควบคู่ไปกับการแปลงหนี้เป็นทุนในส่วนของผู้ถือหุ้น  2 ส่วนนี้ไปด้วยกัน แล้วก็จะมีการหารือกับกรรมการเจ้าหนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ตามที่ทางคณะกรรมการเจ้าหนี้ต้องการ ในการดำเนินการปฏิบัติจะอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมาก ตัวนี้เป็นตัวที่สำคัญ”

ประชุมเจ้าหนี้
ขอบคุณภาพ: Suvarnabhumi Airport

โหวตไม่ผ่านใช้แผนเดิม -ซื้อขายตลาดหุ้นปี68 ยาก!!

ถ้าหากแผนไม่ผ่าน นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่าก็ใช้แผนเดิมต่อไป แผนเดิมใช้ต่อไปก็ใช้ได้ เพียงแต่ว่าการออกจากแผนต้องใช้เวลานานกว่าแผนใหม่  คิดว่านานกว่า ส่วนเรื่องหุ้นที่จะเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งในปี 2568 คงจะยาก อาจต้องเลื่อนออกไป หรือถูกเพิกถอนออกไปเลยก็ได้  แต่หากแผนผ่านผมว่าขั้นตอนตามกฏหมาย ในการดำเนินการมันใช้เวลาพอสมควร เพราะฉะนั้นผมไม่คิดว่าจะเป็นปีนี้ หรือในปีหน้า เพราะในแผนกำหนดไว้ว่าทั้งหมดจะต้องเสร็จในปี 2567

นายปิยสวัสดิ์  กล่าวว่าการแปลงหนี้เป็นทุนจะไม่ได้เงินใหม่เข้ามา คือแปลงหนี้เดิมซึ่งมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท แปลงหนี้เป็นทุนได้ 24.5% ก็ได้มา 25,000 ล้านบาทในส่วนของทุน ไม่ใช่เงินใหม่ แต่เงินใหม่จะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมอีกประมาณ 25,000 ล้านบาท และถ้ากู้เงินเพิ่มอีก 12,500 ล้านบาท ในส่วนนี้ก็จะเป็นเงินใหม่เข้ามา การดำเนินการที่ตกลงกันไปแล้วคือในส่วนของการแปลงหนี้เป็นทุน การออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมการดำเนินการจะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน

“ส่วนเงินกู้ส่วนนี้จะต้องดูอีกทีว่ามีความจำเป็นหรือไม่  ถ้าเผื่อไม่มีความจำเป็นกู้มาก็เสียดอกเบี้ยเปล่าๆ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

มั่นใจ  EBITDA ไตรมาส 3 ดีขึ้น

นายปิยสวัสด์ กล่าวว่า จากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ขึ้นมาเป็นบวกประมาณ 168 ล้านบาท ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมาก เพราะเป็นบวกครั้งแรกในรอบเวลาเท่าไหร่จำไม่ได้  กำไรสุทธิอย่าไปสนใจมาก อย่างปีที่แล้วกำไรสุทธิเป็นบวก แต่ปีนี้กำไรสุทธิเป็นลบ มันก็จะมาจากรายได้พิเศษต่างๆ EBITDA เป็นบวก ในไตรมาส 2 เดือนเมษายน 2565 ยังแย่

เดือนมิถุนายน 2565 ดีขึ้นมาออกมาเป็นบวก  เดือนกรกฎาคม 2565 ผู้โดยสารของการบินไทยเพิ่มเข้ามา ผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มมา 16,500 คนต่อวัน ซึ่งตัวนี้พอที่จะทำให้ EBITDA กลับมาเป็นบวกพอสมควร เดือนสิงหาคม เชื่อว่าตัวเลขมันจะออกมาค่อนข้างดี เพราะฉะนั้นไตรมาส 3  EBITDA  หลังหักค่าเช่าก็จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจะดี ซึ่งที่เป็นอย่างนี้ได้ แม้จำนวนผู้โดยสารจะยังน้อยกว่าก่อนโควิด-19 มาก เพราะเราลดค่าใช้จ่ายไปเยอะ

สำหรับจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยต่างประเทศอยู่ที่ 16,500 คนต่อวัน สายการบิน ไทยสมายล์ ต่างประเทศ อยู่ที่ 3,000 คนต่อวัน ต่างประเทศการบินไทยกับไทยสมายล์ รวมกันอยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวัน ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ  แต่ถ้าบวกไทยสมายล์ในประเทศเข้าไปด้วยผู้โดยสารการบินไทยและไทยสมายล์ รวมกันต่อวันอยู่ที่  30,000 คน ก็ประมาณ 45% ของระดับก่อนโควิด-19 แต่ก็ยังต่ำกว่ามาก

ประชุมเจ้าหนี้
ขอบคุณภาพ: Suvarnabhumi Airport

ปัดฝุ่นเครื่องบินจอดอยู่กลับมาใช้งาน 5 ลำ

ในส่วนของจำนวนเครื่องบิน นายปิยสวัสดิ์ บอกว่าเดิมมีอยู่ 100 กว่าลำ แต่ตอนนี้ใช้อยู่ 61 ลำ เป็นเครื่องบินค่อนข้างใหม่ 57 ลำ เครื่องบินเก่าอีก 4 ลำ ที่สภาพยังดีอยู่ แต่เราก็อยู่ระหว่างดำเนินการที่จะเอาเครื่องบินที่จอดอยู่ ที่จะกลับมาใช้งานอีก 5 ลำ ที่เป็นเครื่องบินของการบินไทย เพราะฉะนั้นปลายปีนี้ ต้นปีหน้า ก็จะมีเครื่องบินในฝูงบิน 66 ลำ แล้วก็จะมีเครื่องบินใหม่ที่จะเข้ามาที่มีการเจรจาเช่าไปแล้ว เซ็นบันทึกความเข้าใจไปแล้ว 2 ลำ ส่วนที่เหลือก็คงต้องแสวงหาเครื่องบินใช้แล้ว ที่ค่าเช่าไม่แพงจนเกินไป เข้ามาเพิ่มเติม ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู

ประชุมเจ้าหนี้

ส่วนอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิน แฟคเตอร์) โดยรวมช่วงหลังขึ้นมาถึง 80% ทั้งๆที่ในหลายประเทศ มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ยุโรปกว่า 90%  จุดที่เป็นปัญหาของเรา คือด้านเหนือของประเทศไทย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ที่ยังมีข้อจำกัดในการเดินทาง อย่างจีน แทบจะไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะแทบจะไม่สามารถบินไปได้เลย ฮ่องกง ก็จะมีข้อจำกัดเยอะ ไต้หวัน ข้อจำกัดเยอะมาก

สำหรับ ญี่ปุ่น ข้อจำกัดก็ยังเยอะกติกากฎเกณฑ์ ยุ่งยาก และที่สำคัญคือมีข้อจำกัด ว่าเครื่องบินของการบินไทย แต่ละลำที่บินเข้าญี่ปุ่นขนผู้โดยสารได้ไม่เกิน 190 คนต่อวันในวันธรรมดา และไม่เกิน 160 คน ต่อวันสำหรับช่วงวันหยุด

ขณะที่ธุรกิจการบินในยุโรป อเมริกา ฟื้นตัวมากกว่าทางเอเซีย เพราะประเทศในยุโรป อเมริกา เปิดประเทศไปค่อนข้างมาก แทบจะไม่มีข้อจำกัดแล้ว แต่เอเซีย ทางญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ยังมีข้อจำกัด ทำให้ธุรกิจการบินของเอเซีย อาจจะฟื้นช้ากว่าสายการบินในอเมริกา ยุโรป แต่ก็เชื่อว่ามาตการการเดินเข้าญี่ปุ่นน่าจะค่อยๆผ่อนคลายในไม่ช้า

มั่นใจปีหน้ารายได้ทะยาน 1.2 แสนล้าน 

นายปิยสวัสดิ์ ยังเชื่อว่าปี 2566 รายได้ของการบินไทยน่าจะขึ้นมาสู่ระดับ 120,000 ล้านบาท เทียบกันรายได้ประมาณ 1.6-1.7 แสนล้านบาทต่อปีช่วงก่อนโควิด คิดว่ารายได้น่าจะกลับมาใกล้เคียงก่อนโควิด คงจะปี 2567 ไปแล้ว

ประชุมเจ้าหนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight