Business

คำพูดประธานเฟด 9 นาที ‘เขย่าโลก’ จ่อขึ้นดอกเบี้ย สยบเงินเฟ้อ ซัดหุ้นร่วงระเนระนาด

“กอบศักดิ์” วิเคราะห์ทิศทางเฟด หลัง พาวเวล ประธานเฟด ประกาศกร้าวขึ้นดอกเบี้ย สยบเงินเฟ้อ อย่างไม่ใจอ่อน ไม่เปลี่ยนใจ ทำนักลงทุนผวา ตลาดหุ้นร่วงกราวรูด

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ กอบศักดิ์ ภูตระกูล วิเคราะห์ตลาดหุ้น บิทคอยน์ร่วงกราวรูด หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้ดอกเบี้ยสยบเงินเฟ้อ โดยระบุว่า

ขึ้นดอกเบี้ย

9 นาทีเขย่าโลก

ตัดรอน ไม่เหลือเยื่อใย

นี่น่าจะเป็นข้อสรุปที่ตรงสุด สำหรับสุนทรพจน์สั้น ๆ ของท่านประธานเฟดเมื่อคืนนี้

1,301 คำที่ชี้ว่า เฟดจะไม่ใจอ่อน และจะไม่เปลี่ยนใจ จนเงินเฟ้อลง

We will keep at it until we are confident the job is done.

จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมื่อคืนนี้

  • Dow Jones -1,008 จุด หรือ -3.03%
  • Nasdaq -498 จุด หรือ -3.94%
  • Bitcoin -1,500 ดอลลาร์ ลงมาเหลือ 20,200 หรือ -6.75%
  • Ethereum -200 ดอลลาร์ ลงมาเหลือ 1,500 หรือ -12%

ดาวโจนส์

ระเนระนาด

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะนักลงทุนแอบหวังว่า เงินเฟ้อสหรัฐที่ลงมาให้เห็น 1 เดือนแล้ว เป็นสัญญาณที่ดี

หมายความว่า ดอกเบี้ยขึ้นไปไม่มาก แค่ 3.66% ก็จะจบ ต้นปีหน้า เฟดน่าจะพอแล้ว และน่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี

แต่สิ่งที่ท่านประธานเฟดพูดเมื่อคืน มันช่างต่างจากที่นักลงทุนคิดไว้มาก

ท่านบอกว่า

  • สิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐหมกหมุ่น focus อยู่ ก็คือ เอาเงินเฟ้อลงมาที่ 2% หน้าที่ของเรา คือ การสยบเงินเฟ้อให้ได้

ถ้าเฟดผิดพลาดเรื่องนี้ เศรษฐกิจก็จะไม่สามารถขยายตัวอย่างยั่งยืน เงินเฟ้อจะสร้างความเสียหายแก่ทุกคน

  • การเอาเงินเฟ้อกลับเข้าเป้า ต้องใช้เวลา ต้องใช้นโยบายที่ เข้มข้น เข้าจัดการ จะนำมาซึ่ง เศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าปกติ คนต้องตกงาน ธุรกิจต้องปิด คนทั่วไป อาจจะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้

แต่นี่คือต้นทุนที่เราต้องแบกรับไว้ เพราะถ้าพลาดจะเสียหายยิ่งกว่านี้

  • ล่าสุด เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอลงบ้าง แต่โดยรวมยังมีแรงส่งที่ดีอยู่ ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่งมาก เงินเฟ้อกำลังกระจายไปภาคส่วนต่าง ๆ

nas

ส่วนที่ลงมา 1 เดือน ถือเป็นข่าวดี แต่ยังไม่พอ ยัง falls far short ที่จะทำให้กรรมการมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะลง

เฟดจะปรับดอกเบี้ยไประดับที่เข้มข้น ที่ชะลอเศรษฐกิจลงมา ระดับปัจจุบันที่ 2.25-2.5% เป็นระดับที่เรียกว่า Neutral rate แต่จุดนี้ไม่ใช่จุดที่เฟดจะหยุด หรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ย โดยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งหน้า อาจจะเป็น .75%

เราจะดูข้อมูลที่ออกมาอีก 1 เดือน แล้วตัดสินใจว่าเหมาะสมหรือไม่

ทั้งนี้ ในอนาคต เมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปได้สูงพอ อัตราการขึ้นอาจจะชะลอลงได้

  • ในการที่จะเอาเงินเฟ้อลงมา เฟดคงต้อง คงดอกเบี้ยในระดับสูง เป็นเวลาที่นานพอควร เพราะบทเรียนในอดีตชี้ว่า การลดลงเร็วเกินไป เชื้อเงินเฟ้อจะไม่ตาย และจะเกิดปัญหาอีกรอบได้

โดยเมื่อมิถุนายน กรรมการมองว่าจุดสูงสุดของดอกเบี้ยรอบนี้ต้องขึ้นไปอย่างน้อยใกล้ ๆ 4% แต่ในการประชุมครั้งหน้าจะบอกอีกทีว่าจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ เท่าไหร

สิ่งที่กรรมการคิด หารือแนวทางจัดการเงินเฟ้อ ตั้งอยู่บนบทเรียนสำคัญจากอดีต 3 เรื่อง

เรื่องแรก เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางในการจัดการเงินเฟ้อ ธนาคารกลางมีเครื่องมือในการสู้ศึกดังกล่าว ที่เคยใช้ได้ผลมาในอดีต

รอบนี้ก็เช่นกัน ต้องเอาเงินเฟ้อลงมาให้ได้ อย่างไม่มีเงื่อนไขใดใด We are committed to doing that job

เฟดมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเรื่องนี้ โดยไม่ลังเล
(หมายความว่า เศรษฐกิจจะถดถอย คนจะตกงาน บริษัทจะปิดกิจการ ล้มละลาย รัฐบาลสหรัฐจะจ่ายหนี้ยากขึ้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องไปปรับตัวเอง)

เรื่องที่สอง การคาดการณ์เงินเฟ้อของทุกคนสำคัญมาก

ในช่วง 1970 เงินเฟ้อสูง คนเคยชิน ยิ่งเฟ้อ ก็ยิ่งเอามาใช้ในการปรับขึ้นราคาสินค้า เงินเดือน

Paul Volcker บอกว่า หน้าที่ของเฟดคือ ตีหลังของเงินเฟ้อให้หัก และทำให้เงินเฟ้อไม่สามารถต่อยอดตนเองได้

Alan Greenspan บอกว่า เป้าหมายคือ เราต้องทำให้เงินเฟ้อต่ำ ต่ำจนทุกคนไม่ได้ใส่ใจ

แต่ปัญหาใหญ่ของเราก็คือ ช่วงนี้ เงินเฟ้ออยู่ในใจทุกคน ยิ่งปล่อยไว้นาน เงินเฟ้อก็จะสามารถฝังรากลึก ต่อยอดตัวเองได้

เรื่องที่สาม เราต้องไม่วอกแวก ลังเล อดีตสอนว่า ยิ่งช้า ยิ่งเสียหาย

ก่อนที่ Paul Volcker จะจัดการเงินเฟ้อสำเร็จ เฟดล้มเหลวแล้ว ล้มเหลวอีก เป็นเวลา 15 ปี (ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะใจอ่อน เปลี่ยนนโยบายเร็วเกินไป เชื้อยังไม่ตาย ก็รีบเลิกให้ยา)

นโยบายการเงินที่เข้มข้น ดอกเบี้ยที่สูง ที่ค้างไว้ยาวนานพอ คือ หัวใจสำคัญในการหยุดเงินเฟ้อไม่ให้เพิ่มขึ้น และเอาเงินเฟ้อลงมา

A lengthy period of very restrictive monetary policy was ultimately needed to stem the high inflation and start the process of getting inflation down to the low and stable levels…

เราต้องมุ่งมั่นในการสู้ศึกครั้งนี้ เพื่อจะไม่พลาดเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ ท่านประธานเฟดจบสุนทรพจน์ โดยบอกว่า
These lessons are guiding us as we use our tools to bring inflation down. We are taking forceful and rapid steps to moderate demand so that it comes into better alignment with supply, and to keep inflation expectations anchored. We will keep at it until we are confident the job is done.

บทเรียนทั้งสามเรื่อง คือ กรอบที่เราใช้ในการจัดการเงินเฟ้อรอบนี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย “ให้แรงพอ” และ “เร็วพอ” เพื่อจัดการเงินเฟ้อ และเราเดินหน้าต่อไป ไม่เปลี่ยนใจ จนเรามั่นใจว่าเงินเฟ้อยอมสยบ กลับเข้าเป้า

พูดง่าย ๆ ว่า ทุกคำพูด ทุกประโยคของท่านประธานเฟด ตั้งใจมาตัดรอน ทำให้นักลงทุนที่แอบหวังว่า เฟดจะใจอ่อน เปลี่ยนใจ

ที่ไปพาดหัวข่าวกัน Fed will pivot ขึ้นดอกเบี้ยไปสูงไม่มาก ไม่นาน แล้วก็จะลด ยิ่งมี Recession เฟดก็น่าจะใจอ่อนได้ ไม่อยากให้คนตกงาน บริษัทล้มละลาย เศรษฐกิจไม่ดี พอดอกเบี้ยเริ่มลง สภาพคล่องที่มีอยู่มาก หลายล้านล้านดอลลาร์ ทุกคนก็จะสามารถกลับมาสนุกสนานกับงานเลี้ยงอีกรอบ

แต่พอได้ยินคำพูดที่ ปราศจากเยื่อใย เช่นนี้ ไม่น่าแปลกใจ วงก็เลยแตก ดัชนี้ต่าง ๆ พร้อมใจกันลงเมื่อคืนนี้

สำหรับอนาคต คงจะมีช่วงชักกะเย่อระหว่างเฟดกับตลาดไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ โดยตลาดก็จะแอบหวังตลอดเวลาว่า เฟดน่าจะพอแล้ว ส่วนเฟดก็จะต้องออกมาบอกว่า ยังไม่พอ ยังไม่จบ

สู้กันเป็นระลอก ระลอกไป อย่างน้อยอีก 6-12 เดือน ครับ ทำให้จะมีซีนอย่างเมื่อคืน อีกหลายรอบ

เพราะนี่คือ คำตอบสุดท้ายของเฟด ดอกเบี้ยต้องขึ้นให้สูง ให้สูงพอ และคงอยู่นานพอ ใจแข็งกับความเสียหายที่จะตามมา

โดยคอยปลอบใจตนเองว่า ถ้าเราไม่ใจแข็งพอ ความเสียหายที่รออยู่จะยิ่งใหญ่กว่านี้มาก ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo