Business

จับตาการเปลี่ยนแปลง ‘ท่องเที่ยวไทย’ ก้าวสู่ next normal หลังเปิดประเทศ

นับแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากและผันผวนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการของภาครัฐ

หลังจากสถานการณ์เริ่มบรรเทาลง ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และเริ่มเปิดประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย กลับมาอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านคน หรือ 40% ของช่วงก่อนโควิด-19

ท่องเที่ยวไทย

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ กลับมาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน หรือราว 5% ของช่วงก่อนโควิด 19 แต่การฟื้นตัวนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายใหม่เท่านั้น

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกค้าหลักของธุรกิจท่องเที่ยวไทย เปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปน้อยกว่า และยังมีพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชัดเจน

ธุรกิจท่องเที่ยว ปรับสู่ความปกติใหม่

แม้ว่าหลังจากทางการไทยและต่างประเทศ เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงมีสัดส่วนน้อย คิดเป็นเพียงราว 5% ของช่วงก่อนโควิด-19 เท่านั้น

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการหายไปของนักท่องเที่ยวชาวจีน เมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไทยมากเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่เนื่องจากนโยบายคุมเข้ม Zero-COVID ของรัฐบาลจีน ทำให้ยังไม่มีวี่แววว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาเมื่อใด

นอกจากนี้ การระบาดของโควิด-19 ยังทำให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารเพิ่มขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่เคยอยู่ในรูปแบบของ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่ต้องเดินทางมาพบปะสังสรรค์สร้างเครือข่าย มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง เปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ที่ไม่ต้องจองห้องพัก หอประชุม หรือยานพาหนะ

LINE ALBUM Travelเปิดประเทศวันหยุด ๒๒๐๘๒๔

เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากพอ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จึงยังไม่กลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ มีเพียงธุรกิจโรงแรม ที่ทยอยกลับมาเปิดให้บริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

การเดินทางไปสู่ยุค next normal ของภาคการท่องเที่ยวไทย ยังมีอุปสรรคให้ภาคธุรกิจต้องฝ่าฟันอีกมาก ทั้งจากจำนวน และความต้องการของนักท่องเที่ยว ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเปิดประเทศของประเทศต้นทาง และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป

ธุรกิจปรับตัวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบใหม่

จากการหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถปรับตัวรองรับความปกติใหม่ได้ ประกอบด้วย 3 ประการ ดังนี้

1. การหาโอกาสเพิ่มรายได้ จับเทรนด์ใหม่ให้ทันและปรับตัวให้เร็ว เพราะการทำธุรกิจโดยอ้างอิงจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในอดีตอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเดิม ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เท่าทันความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม Staycation และ Workation ที่ต้องการทำงานในขณะท่องเที่ยวไปด้วย ต่อยอดมาจากกระแส work from anywhere

หนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เดินทางมาไทยมากที่สุด หลังจากเริ่มเปิดประเทศ ได้แก่ ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันเองเป็นครอบครัว บางรายมาจัดงานแต่งงานในไทย และวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวอินเดียจะจัดงานยิ่งใหญ่ ทำให้มีครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง เดินทางมาร่วมงานด้วย

สำหรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ คนอินเดียจะชื่นชอบการรับประทานอาหารอินเดีย และนิยมดูการแสดงหรือกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง เช่น เที่ยวซาฟารีเวิลด์ และล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา นิยมซื้อของที่มีเรื่องราวและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมากกว่า เทรนด์นี้จึงอาจเป็นโอกาสหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้

ท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลา เพื่อตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างในช่วงแรกของการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มาจากทวีปยุโรป พักเป็นเวลาหลายวัน

แต่เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยุโรปชะลอการเดินทาง นักท่องเที่ยวหลักจึงเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มที่เข้ามาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแทน หากธุรกิจพร้อมปรับตัวก็จะสามารถเปิดรับตลาดใหม่ที่อาจเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญในอนาคตได้

2. ความสามารถในการบริหารต้นทุน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจส่วนใหญ่ปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้คือ การบริหารจัดการต้นทุน โดยปรับใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างเหมาะสม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนจำนวนแรงงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การลดต้นทุนในการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ

3. การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก

ในระยะถัดไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธุรกิจบางส่วนจึงเลือกที่จะรอดูสถานการณ์ และยังไม่กลับมาให้บริการ สอดคล้องกับภาคแรงงานที่ส่วนใหญ่ยังไม่กล้ากลับเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยว เพราะยังมีความไม่แน่นอนด้านรายได้อยู่มาก จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอาจเกิดการจำกัดของผู้ให้บริการในภาคท่องเที่ยวได้

แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและความขัดแย้งยุติลง จำนวนนักท่องเที่ยวอาจกลับเข้ามามากกว่าที่คาด ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องเตรียมแผนสำรองไว้ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด จะได้ไม่พลาดโอกาสครั้งสำคัญ อาทิ เตรียมเงินทุนและแรงงาน ติดตามข่าวสารและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

next normal ของภาคการท่องเที่ยวไทย หลังจากการเปิดประเทศ อาจกลับมาในรูปแบบเดิม หรือแบบใหม่ก็เป็นได้ จากปริมาณและความต้องการสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ

ดังนั้น คุณสมบัติ 3 ประการ คือ จับเทรนด์ให้ทัน ปรับตัวให้เร็ว บริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม และพร้อมลุกให้ไวจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นสิ่งสำคัญที่จะประคับประคองให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ next normal นี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง

ข้อมูลจาก: ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo