กิจการเหมืองแร่ 3 ประเภท เตรียมเฮ! ครม. ไฟเขียว ปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์ มอบ BOI ไปพิจารณารายละเอียด
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มความต้องการใช้แร่สูงขึ้น ทั้งแร่โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่า แร่หายาก และแร่อุตสาหกรรมอื่นๆ
ปรับปรุงมาตรการส่งเริมการลงทุน และสิทธิประโยชน์
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในปี 2563 มูลค่าเพิ่มของการทำเหมืองแร่คิดเป็นสัดส่วน 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังประสบปัญหาเกี่ยวกับแร่ในด้านต่างๆ อาทิ ต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่จากต่างประเทศ ขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากแร่ ขาดมาตรการและแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และขาดการลงทุนเพื่อลดผลกระทบจากการทำเหมือง
เริ่มที่ 3 กิจการเมืองแร่
ครม.จึงมีมติเห็นชอบในหลักการ นโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยระยะแรกให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม
ซึ่งแบ่งกิจการที่ต้องการส่งเสริมออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
- กลุ่มกิจการสำรวจแร่
- กลุ่มกิจการทำเหมืองแร่และหรือแต่งแร่ และ
- กลุ่มกิจการถลุงแร่หรือประกอบโลหกรรม
พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ครม. ไฟเขียว ลด VAT 7% ‘กิจการ Data Center’ ดึงดูดนักลงทุน ธุรกิจศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่
- นายกฯ ปลื้ม นักลงทุนเชื่อมั่น ‘ศักยภาพของไทย’ ย้ำ พร้อมส่งเสริมลงทุนในประเทศ
- หนุน ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ตรึงค่าไฟถึงปี 68 สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุนและภาษี ผลิตแบตเตอรี่