Business

รฟม. โต้ข่าวฮั้วประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แจงยิบการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน

รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 

ตามที่ได้มีข่าวประชาสัมพันธ์ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เรื่อง ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีฮั้วประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) นั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงคมนาคม ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 580/2564

ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ให้เพิกถอนมติและประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชน นั้น

คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามมาตรา 70 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

อีกทั้งปัจจุบัน รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือก) อยู่ระหว่างใช้สิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีดังกล่าวจึงยังไม่ถึงที่สุดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลห้ามคณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. ใช้เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 นั้น ศาลพิพากษาว่า ศาลไม่อาจมีข้อสังเกตตามข้ออ้างดังกล่าวได้ เนื่องจากมิใช่ประเด็นแห่งคดี

ประกอบกับ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 354/2564 ไม่รับฟ้องในข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลพิพากษาห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือก และ รฟม. กระทำการที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ และคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว

สายสีส้ม

ประเด็นการกำหนดคุณสมบัติเอกชนร่วมลงทุน

ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอดังกล่าว ได้มีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมสังเกตการณ์ตามระบบข้อตกลงคุณธรรมด้วยทุกครั้ง

ขณะที่การกำหนดคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอ ได้พิจารณาโดยอ้างอิงจากระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณสมบัติดังกล่าวจึงมีลักษณะเปิดกว้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่เป็นการกีดกันหรือเอื้อประโยชน์แก่เอกชนรายใด

รฟม. เป็นองค์กรของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงคำพิพากษาและคำสั่งของศาลที่มีผลบังคับตามกฎหมาย

ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการของผู้ใดที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ รฟม. ซึ่งกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและความสำเร็จของโครงการ รฟม. จำต้องรักษาสิทธิ์ในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น

  • ส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี)
  • ส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo