Business

อุตสาหกรรมยานยนต์ ฟื้นตัวช้า เผชิญความท้าทายจากสงคราม-เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปีนี้ ส่งสัญญาณฟื้นตัวช้า ๆ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงคราม ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยืดเยื้อ

จิรภา บุญพาสุข นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดทำรายงานภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย คาดการณ์มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เป็นอัตราเติบโตที่ชะลอลงเล็กน้อย จากคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี

อุตสาหกรรมยานยนต์

ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์ในปี 2565 จะขยายตัวราว 2% หรืออยู่ที่ 1.72 ล้านคัน จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ และปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งต้นทุนการผลิตรถยนต์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบต่าง ๆ

ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 2.8% หรืออยู่ที่ราว 7.8 แสนคัน ชะลอลงจากคาดการณ์เดิม ณ ต้นปีที่ 8.2 แสนคัน ซึ่งแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้ง ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวได้จำกัด

ยอดผลิตรถยนต์

ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ในประเทศปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัว 2.1% หรืออยู่ที่ราว 0.98 ล้านคัน มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปที่มีแนวโน้มชะลอลง

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ฟื้นตัวได้ดี จะมาจากกลุ่มรถบรรทุกและกลุ่มรถจักรยานยนต์ ขณะที่กลุ่มรถยนต์นั่งและรถโดยสารฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว

ยอดขายรถยนต์

ทั้งนี้พบว่า ยอดขายกลุ่มรถโดยสารและรถบรรทุกในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถโดยสารและรถบรรทุกจะขยายตัวที่ 3.1% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ทั้งการก่อสร้างทั่วไป และโครงการเมกะโปรเจกต์

ในส่วนของกลุ่มรถโดยสาร (รถบัส) ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ตามภาคการท่องเที่ยว แต่คาดว่าจะสามารถทยอยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ตามนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล

รายงานยังระบุว่า ยอดขายกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์นั่ง
ส่วนบุคคลจะขยายตัวอยู่ที่ 1.1% จากปัจจัยหนุนในการคลายล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่ยังคงต้องติดตามปัญหาภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังที่ปรับตัวสูงขึ้น และอาจส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง

รถยนต์นั่ง

ด้านยอดขายรถจักรยานยนต์ในประเทศ และยอดส่งออกรถจักรยานยนต์ปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องที่ 5.2% หรืออยู่ที่ราว 1.69 ล้านคัน โดยได้รับปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากธุรกิจเดลิเวอรี อีคอมเมิร์ซ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงความนิยมในรถจักรยานยนต์ราคาสูงที่เพิ่มขึ้นในตลาดจีนและกลุ่มสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ดังนี้

  • ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก มีแนวโน้มยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างรถยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และรถยนต์ EVs
  • ต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลก ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์ไทย เนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบสินค้า commodities หลายตัวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก และทำให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ปรับตัวจะสูงขึ้นตามไปด้วย
  • แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ EVs ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ Supply chain อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังของยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยกเว้นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางประเภท เช่น โครงรถ ตัวถัง ระบบช่วงล่าง เบาะนั่ง ล้อรถ เป็นต้น ซึ่งจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ EVs
  • แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Car sharing และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมของผู้บริโภค คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นเจ้าของทรัพย์สินน้อยกว่าคนรุ่นเก่าอาจส่งผลต่อความต้องการรถยนต์ในระยะต่อไป

วัสดุผลิตรถ

EIC มองว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ ดังนี้

จากประเด็นปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหาราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแหล่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน

จากแนวโน้มความต้องการรถยนต์ EVs ในตลาดโลก ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ จะต้องมีการปรับแผนการผลิตรถยนต์ที่สอดรับกับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐ สำหรับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางประเภทที่ยังสามารถใช้ร่วมกันได้ระหว่างรถยนต์ 2 ประเภทจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ EVs

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ไม่สามารถใช้ร่วมกับรถ EVs ได้อาจจะต้องมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ๆ หรือขยายธุรกิจไปยังตลาดชิ้นส่วนทดแทน (REM)

แนวโน้มเทรนด์ธุรกิจ Car sharing ที่จะนำไปสู่ธุรกิจใหม่ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีความต้องการขับขี่รถยนต์แต่ไม่ได้มีความต้องการถือครองไว้ใช้ในระยะยาว ทั้งนี้การให้บริการเช่ารถยนต์ระยะสั้น ที่ให้บริการในหลายรูปแบบทั้งรายชั่วโมง รายเดือน จะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo