Business

จับตา ‘โควิด’ ระลอกใหม่ ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค หลังเดือน มิ.ย. กระเตื้องขึ้น ในรอบ 6 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กระเตื้องขึ้นใน รอบ 6 เดือน หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการ จับตา ‘โควิด’ ระลอกใหม่ ค่าครองชีพ และ ราคาน้ำมัน ปัจจัยหลักฉุดดัชนี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่น

กระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าปกติ

แม้ว่าผู้บริโภคยังคงมีความกังวล เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลก ให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ดัชนี ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนี ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่oมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 35.7 39.2 และ 49.8 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ในระดับ 34.3 37.8 และ 48.5 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่น ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น  ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลก ที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม

จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงาน มีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภค มีความไม่แน่นอนสูง

การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่oมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวดีขันจากระดับ 40.2 เป็น 41.6 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่น

ปัจจัยภายในประเทศ โควิด ค่าครองชีพ ราคาน้ำมัน ฉุดดัชนี

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่oมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเข้ามาซ้ำเติม

ยิ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบอย่างมาก ต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในรอบ 6 เดือนจากระดับ 25.7 มาอยู่ที่ 27.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.9 มาอยู่ที่ระดับ 48.3

การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่น

ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถอยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน

ต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไร และยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมาย การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 2.5-3.5% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo