กรมเจ้าท่า ประกาศ แนวปฏิบัติ เรือ ลูกเรือ ผู้อยู่บนเรือ ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย คัดกรองโควิด หากติดเชื้อ นายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
กรมเจ้าท่า ออกประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้ที่อยู่ในเรือที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ทางน้ำ) (เพิ่มเติม ครั้งที่ 2)
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ และจากนโยบายกระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้กรมเจ้าท่า (จท.) กำกับ ดูแล และควบคุมให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฯ นั้น
แนวปฏิบัติสำหรับเรือที่เข้ามาในน่านน้ำไทย
จท. ได้ออกประกาศกรมเจ้าท่า ที่ 145/2565 เรื่อง แนวปฏิบัติสำหรับเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้ที่อยู่ในเรือที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (ทางน้ำ) (เพิ่มเติม ครั้งที่ 2) โดยให้เรือที่จะเข้ามาในน่านน้ำไทยที่เดินทางมาจากต่างประเทศต้องดำเนินการดังนี้
- ให้ตัวแทนเรือส่งเอกสารให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ก่อนเรือเข้ามาในช่องทางเข้า – ออกประเทศ อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ให้ผู้ประกอบกิจการเดินเรือหรือเจ้าของเรือ ดำเนินการให้ความรู้แก่นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้ที่อยู่ในเรือ เรื่องโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19
- ให้นายเรือตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้ที่อยู่ในเรือเป็นประจำ หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้เฝ้าระวังอาการ หรือนำตัวส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำการตรวจทันที
- กรณีพบหรือสงสัยว่าจะมีผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 บนเรือ ให้ดำเนินการคัดกรองผู้ปลอดเชื้อ และคัดแยกผู้ติดเชื้อไม่ให้ปะปนกัน โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
- ให้นายเรือจอดทอดสมอเรือที่พบว่ามีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไวรัส COVID-19 ณ ตำบลที่ทอดสมอ สำหรับการกักกันโรคและคัดกรองโรคตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือ ณ ตำบลที่พนักงานแพทย์หรือพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เห็นสมควร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
แนวปฏิบัติสำหรับเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้อยู่ในเรือ
แนวปฏิบัติสำหรับเรือ นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้ที่อยู่ในเรือที่เดินทางมาถึงหรือระหว่างอยู่ในราชอาณาจักรต้องดำเนินการดังนี้
- กรณีเดินทางมาถึงหรือระหว่างอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายเรือ ผู้ควบคุมเรือ คนประจำเรือ และผู้ที่อยู่ในเรือ ดำเนินการและแสดงเอกสารหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ หนังสือเดินทาง (Passport) บัตรผ่านแดน (Border pass) หนังสือแสดงความเป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ เอกสารยืนยันว่ามีนายจ้างหรือผู้ที่อนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน ตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด พร้อมแสดงหลักฐานเอกสารรับรองการรับวัคซีนแก่เจ้าหน้าที่
- กรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไม่มีหลักฐาน หรือเอกสารรับรองที่ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อไวรัส COVID-19 โดยวิธี RT- PCR หรือโดยวิธีการตรวจหา โดยชุดตรวจ ATK ที่มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางจากจุดที่มีการจอดเทียบท่าเป็นครั้งสุดท้าย (Last port) ให้ผู้เดินทางต้นสังกัด นายจ้าง หรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรแล้วแต่กรณี เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลทั้งหมด หรือให้เป็นไปตามสิทธิในการตรวจหรือการรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายบัญญัติ
- กรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศทางน้ำ ให้ผู้เดินทางปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด กรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรที่มีหลักฐาน หรือเอกสารรับรองการตรวจโดยวิธี RT – PCR หรือ ATK ที่มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางจากจุดที่มีการจอดเทียบท่าเป็นครั้งสุดท้าย (Last port) ก่อนเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาที่พำนักในประเทศไทย
- กรณีผู้เดินทางเป็นผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น ให้นำยานพาหนะไปจอดและขนส่งสินค้า ณ จุดที่กำหนดไว้เท่านั้น และเดินทางออกนอกราชอาณาจักรทันทีเมื่อขนส่งสินค้าแล้วเสร็จ (ไม่เกิน 7 ชั่วโมง นับแต่ยานพาหนะ ออกจากช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศไปยังจุดขนส่งสินค้า) กรณีมีความจำเป็นที่ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ให้เจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม
- สำหรับข้อปฏิบัติของคนประจำเรือที่อยู่ในประเทศไทย ให้ดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือให้ผู้เดินทางตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 โดยชุดตรวจ ATK หากพบว่ามีการติดเชื้อ ให้ผู้เดินทางดำเนินการเข้ารับการตรวจ หรือรักษาพยาบาล ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยให้ผู้เดินทาง ต้นสังกัด นายจ้าง หรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรแล้วแต่กรณี เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหรือรักษาพยาบาลทั้งหมด หรือเป็นไปตามสิทธิในการตรวจรักษาพยาบาลตามที่กฎหมายบัญญัติ
ทั้งนี้ ผู้ควบคุมเรือต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหมวดที่ 5 ข้อบังคับสำหรับการป้องกันโรคภยันตราย แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวด 5 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท
ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่ง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 โดยเคร่งครัดต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอยง’ ชี้ โควิด 19 ระลอกนี้ ‘นักเรียน’ จะเป็นผู้กระจายโรค ไม่ปิดโรงเรียน แต่เน้นป้องกัน
- ‘หมอประสิทธิ์’ แนะรัฐบาล รีบบอกประชาชน ‘ป้องกันโควิด’ อย่ารอจนเตียงไม่พอ
- อย่าประเมาท BA.4 BA.5 แพร่เร็วมาก พบในไทยแล้ว 51 %