Business

‘เคที-ผู้ว่าฯกทม.’ เคลียร์ปมสายสีเขียว – เตรียมเปิดสัญญา

กรุงเทพธนาคม – ผู้ว่าฯกทม. ถกปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมเปิดสัญญาต่อประชาชน พบคลาดเคลื่อนสูตรคำนวณค่าใช้จ่ายเดินรถไฟฟ้า เตรียมหารือ”บีทีเอส” ภายใน ก.ค.นี้

ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ถนนรามคำแหง วานนี้ ( 2 ก.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. และคณะผู้บริหารกทม. เข้ารับฟังรายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริษัท

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

รองศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ได้รายงานผลการประชุมของคณะกรรมการในประเด็นข้อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 โดยคณะกรรมการบริษัท ได้ทบทวนทั้งประเด็นความถูกต้องทางกฎหมาย และประเด็นค่าใช้จ่ายค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ซึ่งพบว่าประเด็นด้านข้อกฎหมายนั้น การทำสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายได้มีการฟ้องร้องคดี โดยขณะนี้คดีอยู่ในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนั้นทางคณะกรรมการบริษัท ซึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งชุดใหม่นี้ จะทำหนังสือถึงป.ป.ช. พร้อมให้ความร่วมมือในการประสานข้อมูลต่าง ๆ และจะได้สอบถามความคืบหน้าเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อแนวทางการดำเนินคดี

ส่วนสัญญาเดินรถส่วนต่อขยาย ส่วนที่ 1 สำโรง-สมุทรปราการ ส่วนที่ 2 ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ที่ยังไม่เก็บค่าโดยสารนั้น ล่าสุดบอร์ดมีมติให้เก็บค่าโดยสาร จะเริ่มเก็บเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อให้ กทม. มีรายได้ มาจ่ายค่าดอกเบี้ย และค่าจ้างเอกชนเดินรถ แต่ส่วนต่อขยาย 2 ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากกทม. จึงได้แจ้งผู้ว่าฯ กทม.เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ส่วนในประเด็นของค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้านั้น ได้มีการตรวจสอบทบทวนตัวเลขต่าง ๆ แล้วพบว่า มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องของสูตรคำนวณการคิดค่าใช้จ่ายในการเดินรถ ตลอดจนมีตัวแปรในเรื่องสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรจะมีการประสานเพื่อเจรจากับทางเอกชน หรือบีทีเอส ผู้รับจ้างเดินรถภายในเดือนกรกฎาคม 2565

นอกจากนี้ ในประเด็นของการเปิดเผยสัญญาว่า จ้างเดินรถ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณา​แล้วเห็นว่า ตามที่กรุงเทพธนาคม ได้ทำสัญญากับบีทีเอส โดยในสัญญามีการระบุว่า ห้ามเปิดเผยแก่สาธารณะ คณะกรรมการบริษัท เห็นว่าการที่บริษัทจะให้รายละเอียดข้อสัญญาต่อกรุงเทพมหานครนั้น

กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ย่อมมีสิทธิในการรับทราบการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทในส่วนที่กรุงเทพมหานครรับทราบรายละเอียด​สัญญา​แล้ว จะนำข้อมูลสัญญาเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น จะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพมหานครต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight