Business

บอร์ดเคทีถกผู้ว่าฯกทม.พรุ่งนี้ – สัญญาจ้าง ‘บีทีเอส’ เดินรถ ลั่นบางอย่างควรทบทวน!!

ประธานบอร์ดกรุงเทพธนาคม เชิญผู้ว่าฯกทม. รับฟังข้อเสนอของบอร์ดฯ 2 ก.ค. นี้ หลังบอร์ดได้หารือรายละเอียดสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกฉบับ เตรียมหาทางเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด ชี้บางอย่างควรทบทวน

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด  กล่าวหลังการประชุมกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ว่าได้พิจารณาข้อสัญญาต่างๆ ที่กรุงเทพธนาคม (เคที) ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ในการเดินรถไฟฟ้าในส่วนของสัญญาสัมปทานนั้น เป็นไปตามข้อกฎหมายถูกต้อง ไม่มีประเด็นข้อสงสัย

กรุงเทพธนาคม

ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อการทำสัญญาส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 ช่วงสถานีสะพานตากสิน – บางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-แบริ่ง ซึ่งมีการจ้างเดินรถผูกพันเป็นระยะเวลายาวนาน 30 ปี (ปี 2555-2585)  ที่ผ่านมาในช่วง 10 ปีถึงปัจจุบันในปี 2565 จะพบว่ามีข้อเท็จจริงหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น โรคโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจโลก วิถีชีวิต ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขต่างๆ ที่เคยตกลงหรือเข้าใจในข้อสัญญานั้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ควรจะมีการทบทวน เช่น ตัวเลขค่าบริการ ที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น เดิมใช้เงินสดซึ่งมีกระบวนการจัดการทางการเงินยุ่งยาก ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้ สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรอบคอบ

กรุงเทพธนาคม

ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าวว่าสำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงสถานีหมอชิต-คูคต และสถานีแบริ่ง-เคหะสมุทราปราการ ซึ่งออกไปนอกพื้นที่กทม. โดยมีเส้นทางไปถึงจังหวัดปทุมธานี และสมุทรปราการ ถือเป็นเรื่องระดับนโยบายที่เกินขอบเขตหน้าที่ของกรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม  ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนี้ดำเนินการก่อสร้างโดยการรถไฟฟ้าโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ที่มีภารกิจในการดำเนินการเรื่องรถไฟฟ้าทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ต่อมาก็มีประเด็นปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อเดินทาง ระหว่างรถไฟฟ้าที่ดำเนินการโดย รฟม. กับ บีทีเอส ไม่สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวก เชื่อมต่อไม่สนิท ซึ่งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นก็ได้มีการโยกโครงการรถไฟฟ้าส่วนนี้มาให้กรุงเทพมหานคร เนื่องจากโดยสภาพเป็นโครงสร้างในเส้นทางสายเดียวกัน เพื่อให้การเดินทางเชื่อมต่อกันได้สะดวก ซึ่ง กทม. ได้รับโครงสร้างรถไฟฟ้ามาพร้อมกับหนี้สิ้น ในเรื่องนี้ก็ได้ให้โจทย์กับทางคณะกรรมการไปเพื่อไปดูตัวเลขต่างๆ ให้ตกผลึกและนำกลับมาพูดคุยอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม 2565

กรุงเทพธนาคม

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าจะเรียนเชิญผู้ว่าฯกทม. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ของกรุงเทพธนาคม เข้ามารับฟังรายละเอียด จากคณะกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมาย ด้านการเงิน ด้านวิศวกรรม เพื่อสอบถามรายละเอียดต่างๆ กับทางคณะกรรมการได้โดยตรง

“คณะกรรมการชุดนี้มุ่งหวังว่า จะทำให้ข้อสัญญาและรายละเอียดต่างๆ เกิดความกระจ่าง คลายความกังวลสงสัยที่อธิบายไม่ได้มายาวนาน สิ่งสำคัญสูงสุดคือ ประโยชน์สาธารณะร่วมกันโดยที่ทุกฝ่ายอยู่ได้และมีความเป็นไปได้ ในการทำธุรกิจ และประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความเป็นธรรม” ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight