Business

‘ศักดิ์สยาม’ แจ้งเตรียมเปิดประชาชน ทดลองนั่งรถไฟฟ้าสีชมพู ฟรี 3 เดือน!

“ศักดิ์สยาม” เตรียมเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งรถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงสถานีมีนบุรี-ศูนย์ราชการ ,สายสีเหลือง ช่วงภาวนา-สำโรง ฟรี 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2566 มั่นใจผู้โดยสารเดินทางทะลักกว่า 1.9 -2 แสนคนต่อวันต่อสาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้าง และเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการเดินรถว่า รถไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างแล้วกว่า 90% เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ อยู่ระหว่างทดสอบการเดินรถ กำหนดเปิดเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) เพื่อให้ประชาชนขึ้นฟรี ภายในต้นปี 2566 รวมระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม-มีนาคม 2566 ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จะเปิดทดสอบได้ช่วง สถานีภาวนา-สถานีสำโรง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะเปิดทดสอบได้ในช่วง สถานีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ-สถานีมีนบุรี ก่อนเปิดให้บริการเดินรถอย่างเต็มรูปแบบในปี 2566

รถไฟฟ้าสีชมพู

รถไฟฟ้าสีชมพู เปิดทดลองนั่งม.ค.-มี.ค.66

สำหรับการประเมินตัวเลขจำนวนผู้โดยสาร ช่วงแรกคาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 190,000-200,000 คนต่อวันต่อสาย ขณะที่ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อวันต่อสาย อัตราค่าโดยสารเบื้องต้นน่าจะเริ่มที่ 14-42 บาท ขณะนี้รองปลัดกระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง และกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทาน อยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราค่าโดยสารใหม่ เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน ซึ่งต้องเอาดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มาพิจารณาอีกครั้ง

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าได้ให้นโยบายรฟม. พิจารณาเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ตามสถานีรถไฟฟ้าด้วย เพื่อนำรายได้มาอุดหนุน ลดค่าโดยสารให้กับประชาชน ซึ่งราคาค่าโดยสารตนอยากให้มีราคาที่ถูกที่สุดอยู่แล้ว ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องของค่าแรกเข้า ในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ นั้น เรื่องนี้อยู่ระหว่างการเจรจา กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อเตรียมความพร้อมกรณีรถไฟฟ้าสีต่างๆ ตัดกัน หากมีการเชื่อมต่อให้ยกเว้นค่าแรกเข้า

รถไฟฟ้าสีชมพู

“ค่าโดยสารต้องสะท้อนความเป็นจริงให้กับประชาชน แต่ภาคเอกชนที่เป็นผู้ลงทุนและได้รับสัมปทาน  30 ปี ก็ต้องอยู่ได้ รฟม.ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นว่าที่ไปที่มาค่าโดยสารด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งประชาชน ภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามโครงสร้างพื้นฐานของ รฟม. กระทรวงคมนาคมยังเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และยังเป็นการแก้ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดรวมถึงลดฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ประชาชนจะต้องเรียนรู้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม  กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กม. และต่อขยายสายสีเหลือง ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. นั้น  ในส่วนของส่วนต่อขยายสีชมพู ผู้รับจ้างได้เริ่มเข้าพื้นที่การก่อสร้างแล้ว ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 68 ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเหลือง ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเจรจา เบื้องต้นทราบว่าเป็นเส้นทางที่กระทบต่อรายได้ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ดังนั้นจึงต้องดูว่ากระทบอย่างไรและเจรจาให้ได้ข้อยุติ หากโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ก็ต้องเจรจาให้จบ

รถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่แยกรัชดา – ลาดพร้าว บริเวณหน้าอาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ไปตามแนวถนนลาดพร้าว ถึงทางแยกบางกะปิ เข้าสู่ถนนศรีนครินทร์ ข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 ผ่านแยกพัฒนาการ แยกศรีนุช แยกศรีอุดม แยกศรีเอี่ยม แยกศรีเทพา เข้าสู่ถนนเทพารักษ์ และสิ้นสุดที่บริเวณแยกเทพารักษ์ รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 30.4 กิโลเมตร ประกอบด้วย สถานีทั้งหมด 23 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง และอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย

รถไฟฟ้าสีชมพู

1. สถานีลาดพร้าว (YL01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน)

2. สถานีแยกลำสาลี (YL09) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

3. สถานีหัวหมาก (YL11) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์และรถไฟทางไกลสายตะวันออก

4. สถานีสำโรง (YL23) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ

รถไฟฟ้าสีชมพู

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์ บริเวณถัดจากศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ผ่านแยกแครายเข้าสู่ถนนติวานนท์ ตัดเข้าสู่ถนนแจ้งวัฒนะที่บริเวณใกล้กับ ห้าแยกปากเกร็ด ผ่านแยกหลักสี่ เข้าสู่ถนนรามอินทราจนถึงแยกมีนบุรี เลี้ยวขวาสู่ถนนรามคำแหง ซึ่งมีสถานีสุดท้ายที่บริเวณใกล้ซอยรามคำแหง 192 ระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 30 สถานี ศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งและอาคารจอดแล้วจร 1 แห่ง มีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าอีก 4 สาย ประกอบด้วย

1. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง)

2. สถานีหลักสี่ (PK14) เชื่อมต่อกับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต

3. สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต

4. สถานีมีนบุรี (PK30) เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

รถไฟฟ้าสีชมพู

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ได้มีการรับมอบขบวนรถแล้ว 28 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ได้รับมอบขบวนรถแล้ว 26 ขบวนจากทั้งหมด 42 ขบวน และในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะจัดส่งถึงไทยได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และในเดือนตุลาคม 25655 สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู

รถไฟฟ้าสีชมพู

S 250077232

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight