Business

4 แนวทาง พัฒนาอุตสาหกรรม ‘แปรรูปอาหาร’ ลุ้นส่งออก ปีนี้ทะลุ 1.3 ล้านล้านบาท

เผย 4 แนวทาง ขับเคลื่อนแผน พัฒนาอุตสาหกรรม ‘แปรรูปอาหาร’ ลุ้นส่งออกปีนี้ทะลุ 1.3 ล้านล้านบาท หวังเป็น 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก

ตั้งเป้าส่งออกอาหารแปรรูปของไทย ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 และลุ้นปี 2565 ทะลุ New High 1.3 ล้านล้านบาท พร้อมพลิกวิกฤตเป็นโอกาสรับมือสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก ก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก ผ่าน 4 มาตรการ เพื่อเร่งสร้างโอกาสสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต

แปรรูปอาหาร

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้า และแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ที่กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานหลัก ได้รับมอบหมายให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกอาหารแปรรูปของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะมีมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ส่วนภาพรวมปี 2565 คาดจะถึงจุดสูงสุดเดิมและมีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการรับมือ กับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก และก้าวสู่ 1 ใน 10 ประเทศผู้ส่งออก ผ่านการขับเคลื่อน 4 มาตรการหลักตามแผนปฏิบัติการ เพื่อเร่งสร้างโอกาสสู่การขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต โดยมีความก้าวหน้า ดังนี้

แปรรูปอาหาร

4 มาตรการหลัก ขับเคลื่อน พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ระยะที่ 1

  • มาตรการที่ 1 การสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) ผ่าน 4 หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และสถาบันอาหาร) ในการพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ สถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ผ่านการอบรมและให้คำปรึกษาด้านการเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล และมาตรฐานฮาลาล (HALAL)

ถ่ายทอดความรู้เชิงธุรกิจ และ การนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต เช่น การยกระดับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปสู่การเป็นโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีดิจิตัล รวมทั้งสิ้น 3,218 ราย (4,836 คน) พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า 390 ผลิตภัณฑ์

ส่งออก

  • มาตรการที่ 2 การสร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต มีการเชื่อมโยงกลไกและให้บริการด้านการวิจัย และพัฒนาผ่านเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยมีผู้ประกอบการได้รับการเสริมสร้างความสามารถในการดำเนินธุรกิจนวัตกรรม 651 ราย

สร้างนักวิจัยให้สามารถผลิต และ พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง เช่น การวิจัยและพัฒนาสารสกัดที่มีฤทธิ์ต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับผู้สูงอายุ และจัดให้มีศูนย์บริการด้านการบริหารจัดการเทคโนโลยี และนวัตกรรมอาหารให้บริการครบวงจร นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานกว่า 791 ราย

แปรรูปอาหาร

  • มาตรการที่ 3 การสร้างโอกาสทางธุรกิจยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 โดยในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ จัดงานแสดงสินค้าระดับโลกในไทย จำนวน 2 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการที่ลงทะเบียนในแฟลตฟอร์ม ทั้งสิ้น 2,363 ราย 2,088 บริษัท 97 ประเทศ มูลค่าการสั่งซื้อรวมประมาณ 3,122.8069 ล้านบาท

ด้านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ให้การส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมแปรรูปที่เป็น SMEs มูลค่า 322 ล้านบาท และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จัดทำและปรับปรุงฐานข้อมูล SMEs ประเทศไทย และเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ SMEs Big Data

แปรรูปอาหาร

  • มาตรการที่ 4 สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารจำนวน 14 เรื่อง สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดทำโครงการสร้างนวัตกรรมเพื่อการผลิตอ้อยพันธุ์ดี และส่งเสริมอ้อยพันธุ์ใหม่ ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่

แปรรูปอาหาร

นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าประมง การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรโดยการจดทะเบียนตรวจสอบรับรองแหล่งผลิตพืช GAP และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดทำโครงการเตรียมความพร้อม Smart Farmer ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo