Business

ผู้ประกันตนต้องรู้ สิทธิประโยชน์ ‘กองทุนประกันสังคม-กองทุนเงินทดแทน’ ได้อะไรบ้าง

สิทธิประโยชน์ จากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน เรื่องที่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องรู้ ป้องกันเสียสิทธิโดยไม่รู้ตัว

สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โพสต์เพจเฟซบุ๊ก บอกสิทธิที่ผู้ประกันตน จะได้รับจาก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน

ผู้ประกันตน

กองทุนประกันสังคม

เป็นกองทุนที่ให้ประโยชน์ทดแทน เมื่อเกิดกรณีต่าง ๆ ที่ไม่ใช่จากการทำงาน ดังนี้

1. กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย

  • ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริหารทางการแพทย์
  • ได้รับการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ
  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นโรคเรื้อรัง ไม่เกิน 365 วัน
  • กรณีทันตกรรม ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 900 บาทต่อปี (อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าตัดฟันคุด)

2. กรณีคลอดบุตร

  • ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันคลอดบุตร
  • ผู้ประกันตนหญิง ได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และเงินสงเคราะห์หยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้าง เฉลี่ย 90 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง
  • ผู้ประกันตนชาย ได้รับเฉพาะค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • ค่าฝากครรภ์ จำนวน 1,500 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

ประกันสังคม

3. กรณีทุพลภาพ (ไม่เนื่องจากการทำงาน)

  • ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนทุพพลภาพ อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน
  • กรณีทุพลภาพระดับความสูญเสียไม่รุนแรง (ประเมินการสูญเสียตั้งแต่ 35-49% ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 30% ของค่าจ้าง ตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่เกิน 180 เดือน
  • กรณีทุพลภาพระดับความสูญเสียไม่รุนแรง (ประเมินการสูญเสียตั้งแต่ 50% ขึ้นไป) ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายวัน ตลอดชีวิต

4. กรณีตาย

  • ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย
  • ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์กรณีตาย หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าเฉลี่ย 4 เดือน หากจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินสงเคราะห์ 50% ของค่าเฉลี่ย 12 เดือน

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

  • ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร เหมาข่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตร 1 คน

LINE ALBUM ประกันสังคมม 1.33อสม ๒๒๐๖๒๐

6. กรณีชราภาพ

  • เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน)

ได้รับเงินบำนาญชราภาพ 20% ของค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

  • เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน)

จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบ เฉพาะส่วนของผู้ประกันตน

จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับจำนวนเงินสมทบ ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโนชน์ตอบแทน

7. กรณีว่างงาน

  • ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
  • ถูกเลิกขจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน
  • ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

กองทุนเงินทดแทน

เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยจัดเก็บเงินสมทบจากนายจ้างฝ่ายเดียว ตามประเภทความเสี่ยงของกิจการ เพื่อนำไปจ่ายทดแทนให้ลูกจ้าง กรณีประสบอันตราย เนื่องจากการทำงาน ดังนี้

  • กรณีเจ็บป่วย ไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรก
  • กรณีทุพพลภาพ (ตลอดชีวิต)
  • กรณีสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกาย (ไม่เกิน 10 ปี)
  • กรณีตายหรือสูญหาย (10 ปี)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo