“สมหมาย ภาษี” อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ยุค”นายกฯประยุทธ์” เขียนแนะรัฐบาล อย่าบริหารนํ้ามันแบบตาสีตาสา เผย วิกฤตนํ้ามันทําให้รัฐบาลตั้งตัวไม่ติดอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Sommai Phasee ระบุ “อย่าบริหารนํ้ามันแบบตาสีตาสา” โลกทุกวันนี้มีแต่ความปั่นป่วนวุ่นวาย เป็นอย่างมาก คนที่พอมีอะไรจะทํามาหากินได้ ก็ปั่นป่วนด้วยราคานํ้ามันแพง นักธุรกิจน้อยใหญ่ก็ปั่นป่วนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่กําลังปรับตัวสูงขึ้น ทําให้หาเงินกู้ไม่ค่อยจะได้อย่างแต่ก่อน ส่วนชาวบ้านตาดําๆ ที่แทบจะหาอาชีพทํามาหากินไม่ได้ก็ปั่นป่วนด้วยข้าวของที่ จําเป็นขึ้นราคาเป็นรายวันแทบทุกรายการ
แล้วรัฐบาลไทยตอนนี้ปั่นป่วนหรือเปล่า ก็ตอบได้คําเดียวว่าทั้งง่อนแง่นและปั่นป่วน อย่างที่เห็นกันมานานแล้วว่าเสถียรภาพของความเป็นรัฐบาลนั้น สั่นคลอนจนไม่ได้มีเวลาจะคิดอะไรออกมาแล้ว ยิ่งตอนนี้วงการเมือง ปริแตกจนเห็นกันชัดเจน ที่นักการเมืองบางท่านกล่าวว่า หากล้วยมาแจกไม่ค่อยจะทัน อยู่แล้วมันจะไม่ง่อนแง่นได้อย่างไร
จากสงครามการค้าโลก ผ่านโควิด-19 จนถึงวิกฤตนํ้ามันโลก ในที่นี้จะไม่พูดเรื่องการเมือง จะขอวิจารณ์ในเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวครับ ปกติแค่เกิดความตึงเครียดหนักๆ อย่างเช่น สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐ ประเทศต่างๆก็ถูกกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างหนักหนากันอยู่แล้ว มาปัจจุบันนี้เกิดสงครามจริงๆที่ยืดเยื้อ ระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีกลุ่มนาโต้ที่นําโดยประเทศสหรัฐอเมริกาสนับสนุน ก็ยิ่งเพิ่มผลกระทบด้านเศรษฐกิจให้แก่ประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทําสงครามด้วยการเล่นเกมส์นํ้ามันและก๊าซซึ่งเป็นสินค้าหลักของโลก
ประเทศไทยนั้นโดนผลกระทบจากภายนอกมาตลอดถึง 4 ปีแล้ว ก่อนโควิด-19 ก็กระทบเต็มๆจากสงครามการค้าโลกระหว่างจีนกับสหรัฐที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ได้ก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักโดยเฉพาะการส่งออก 6 เดือนแรกของปี 2562 มีเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้นที่เป็นบวก ที่เหลือติดลบทุกเดือนเป็นผลให้ทั้งปี 2562 มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวติดลบ 3.3 % และปี 2563 ติดลบหนักขึ้นเป็น 6%
เคราะห์กรรมจากสงครามการค้าโลกยังไม่จางหาย ในปี 2563 ไทยก็โดนถล่มด้วยการระบาดของโรคร้ายโควิด-19 ที่ได้เริ่มเกิดจากเมืองอู่ฮั่นของจีนตั้งแต่ปลายปี 2562 ทําให้ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกทุกด้านหยุดชะงัก ไทยซึ่งพึ่งการท่องเที่ยวเป็นหลักจึงกระอักกว่าชาติใดอื่นถึงสองปีเต็ม คือ ทั้งปี 2563 และปี 2564 ทําให้ GDP ติดลบ 6.1% ในปี 2563 และบวก 1.5% ในปี 2564 รัฐบาลต้องจัดเงินงบประมาณซึ่งต้องกู้พิเศษจากการออก พ.ร.ก. ถึง 2 ครั้ง จํานวน 1.5 ล้านล้านบาทไปเยียวยา เพิ่มสวัสดิการคนจน แถมด้วยการจัดเงินอัดใส่โครงการเราเที่ยวด้วยกันถึง 4 ครั้ง จนกําลังจะเกิดวิกฤตการคลังของประเทศ ตามมาอีกเรื่อง
ในปี 2565 นี้ไตรมาสแรกทําท่าว่าการระบาดของโรคร้ายจะหมดไปจริง มีการเตรียมเปิดประเทศอย่างคึกคัก แต่หลังขึ้นปีใหม่ไม่ถึง 2 เดือน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ สงครามยูเครนกับรัสเซียก็ปะทุขึ้น
แล้วก็ตามมาด้วยนํ้ามันราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเท่าตัว จนกลายเป็น วิกฤตนํ้ามันทําให้รัฐบาลตั้งตัวไม่ติดอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
ตัวที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆหนักก็คือก ารที่ราคานํ้ามันและก๊าซในขณะนี้สูงขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับระยะไม่ถึงปีที่ผ่านมา จนทําให้เกิดภาวะเงินเฟ้อออย่างหนักทั่วโลก ส่วนตัวที่ส่งผลกระทบรองลงมา คือ การปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดหรือธนาคารกลางของสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้ประเทศต่างๆทั่วโลกต้องปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นตาม จริงๆแล้วแม้แบงค์ชาติของเรายังไม่ปรับดอกเบี้ยทางการของไทย แต่ในตลาดการเงินขณะนี้อัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินระดับเงินก้อนใหญ่ๆก็ได้ถูกปรับสูง ตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ของเงินดอลลาร์สหรัฐกันแล้ว
แม้ว่าท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาพูดเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า ของไทยจะไม่มีการปรับมากเหมือนการเหยียบเบรกโดยทันที แต่จะค่อย ๆ ทําไปเหมือนค่อยๆผ่อนคันเร่ง จะอย่างไรก็ตาม ก็ขอให้พี่น้องทั้งหลายเข้าใจเถอะว่า ดอกเบี้ยทางการของไทยเราจะอยู่แบบนี้ไปไม่กี่วันหรอก ในที่สุดก็ต้องสะดุดเหมือนการเหยียบเบรคนั่นแหละ ขืนปล่อยให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยเงินบาท กับเงินดอลลาร์สหรัฐถ่างออกมาก เงินทุนสํารองของไทยที่สูงอันดับ 14 ของโลกก็ต้องแฟบลงแน่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็เป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้ราคาสินค้าต้องแพงขึ้นเช่นกัน
ใครก็รู้ดีว่า ปัจจัยการผลิตที่จะก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจครบเครื่องทุกด้านนั้น ไม่มีอะไรจะรุนแรงกว่านํ้ามัน ซึ่งตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนว่า รัฐบาลจะใช้นโยบายค่อยๆ ปรับราคานํ้ามัน โดยจะไม่ทําแบบฮวบฮาบ โดยอ้างเหตุผลว่ากองทุนนํ้ามันหมดจนติดลบแล้ว และไม่ใช่หมดอย่างเดียวแต่ ณ วันที่ 12 มิถุนายนนี้ ได้ติดลบไปถึง 91,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการแถลงข่าวออกมา โดยนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง
ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่า แล้วกองทุนนํ้ามันเอาเงินที่ไหนมาจ่ายอุดหนุน ในเมื่อมีข่าวว่าธนาคารพาณิชย์ในประเทศของไทยปฏิเสธ ไม่ยอมให้เงินกู้แก่กองทุนนํ้ามัน ซึ่งตามข้อเท็จจริงกองทุนนํ้ามัน ตอนนี้ต้องกู้เอง แต่มีกฎหมายห้ามไม่ให้รัฐบาลคํ้าประกันเงินกู้ ของกองทุนนํ้ามัน ธนาคารต่างๆ จึงไม่ยอมให้กู้คําตอบที่พอหาได้ตอนนี้ก็คือ มีการขอร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้านํ้ามันช่วยเหลือรัฐบาล หรือก็คือกองทุนนํ้ามันแบบลงบัญชีไว้ หรือแปะโป้งกันไว้ก่อนนั่นเอง ผมไม่อยากกล่าวคําใด ๆ แทนผู้เป็นเจ้าหนี้ที่เป็นเอกชนว่า เขาเข็ดขยาดกับการให้เครดิตแก่รัฐบาลนี้เต็มทีแล้ว สิ่งที่รับปากเรื่องเงินๆทองๆกับภาคเอกชนในช่วง 6- 7 ปีที่ผ่านมามันมีอาการแห้วให้เห็นหลายเรื่องแล้วครับ
เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลนี้จะแก้ไขปัญหาราคานํ้ามันแพง ด้วยวิธีค่อย ๆปรับขึ้นราคา แล้วก็เข้าไปให้เงินอุดหนุน แก่การประกอบการภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับคนจน หรือคนชั้นกลาง เช่น จะช่วยอุดหนุนแก่วินมอเตอร์ไซค์ รถประจําทาง และการขนส่งสินค้าบางประเภท เป็นต้น ซึ่งวิธีการแก้ไขแบบนี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นการสร้างสาเหตุให้ผู้ประกอบการใช้ เป็นข้ออ้างอิงในการปรับขึ้นราคาสินค้าได้มากครั้งขึ้น เช่น เดียวกับการออกข่าวของภาครัฐที่บอกว่าจะเล็งให้ปรับขึ้นราคานํ้ามันแค่นั้นแค่นี้ก็จะยิ่งเป็นข้อหนุนนําให้ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้ากันได้บ่อยครั้งขึ้นเหมือนกัน
การแก้ปัญหาราคานํ้ามันต้องทําอย่างสุดรอบคอบ อยากจะแนะให้รัฐบาลนี้ไปศึกษาดูการแก้ปัญหาวิกฤตนํ้ามัน ในสมัยรัฐบาลป๋าเปรม เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว สมัยนั้นรัฐบาลต้องเผชิญทั้งนํ้ามันขึ้นราคา และไทยไม่มีเงินตราต่างประเทศมากพอที่จะใช้ชําระค่านํ้ามันนําเข้าจากต่างประเทศ แต่ท้ายที่สุดท่านก็แก้ปัญหาได้โดยไม่ทําให้ผู้คนเดือดร้อนเหมือน ตอนนี้การตั้งกองทุนนํ้ามัน ไว้เป็นตัวกันผลกระทบต่อประชาชนก็เกิดขึ้นตอนนั้น แล้วมาถึงรัฐบาลนี้จะปล่อยให้แผงกันชนนี้พังพินาศลงไปหรือไง
ถามว่าทําไมรัฐบาลไม่ลองใช้วิสัยทัศน์คิดต่างบ้างหรือ เช่นว่า ณ จุดนี้หรือจุดใดที่เหมาะสม เช่น เอาจุดที่ดีเซลปรับแค่เพดานขณะนี้ลิตรละ 35 บาท และตรึงราคานํ้ามันทุกอย่างตามราคาที่เหมาะสม แล้วประกาศว่าไว้อีก 6 เดือนข้างหน้าค่อยว่ากัน อย่างนี้การขึ้นราคาของสินค้าก็จะหยุดแน่นอน
แต่รัฐบาลที่เป็นงานไม่ควรคิดสั้นๆ เพียงแค่นี้การที่สหรัฐอเมริกา ออกหน้าออกตาสนับสนุนสงครามครั้งนี้เขารู้ดีว่าเขามีแต่ได้อย่างน้อย 3 ประการ คือ ได้ขายพลังงาน ที่เขามีอยู่มากในราคาแพง ได้ขายอาวุธสงครามที่เขาเป็นผู้ผลิตหลักมากขึ้น และได้ให้กู้เงินดอลลาร์ในราคา (ดอกเบี้ย) ที่สูงขึ้นซึ่งการขายเงินนี้แปลกกว่าสินค้าอื่น คือ เงินที่ได้ให้กู้ไปแล้วยังสามารถปรับดอกเบี้ยให้สูงตามอัตราใหม่ได้ด้วย สงครามคราวนี้สหรัฐจึงสามารถดูดทรัพยากรจากทั่วโลกเข้าประเทศได้บานเบอะทีเดียว
ดังนั้น การแก้วิกฤตนํ้ามันครั้งนี้ คนที่เป็นรัฐบาลจําต้องคิดให้รอบคอบ ประการแรกต้อง ประเมินให้ได้ว่า ในระยะปานกลาง คือ 5 – 6 ปี ต่อจากนี้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยควรอยู่ระดับใด ควรเป็น 70 -80 เหรียญต่อบาร์เรลได้ไหม หากมั่นใจในราคาที่จะเป็นในระยะกลางแล้ว ก็ควรรักษาให้ราคาขายของนํ้ามันในประเทศได้รับการประคับประคองด้วยกองทุนนํ้ามันให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกันตั้งแต่ตอนนี้อย่าไปเอาสภาพคล่องของกองทุนนํ้ามันมาเป็นตัวตั้ง
ทีนี้ก็ต้องมีคําตอบว่าจะหาเงินจากไหนมาใส่ในกองทุนนํ้ามัน คําตอบมีทางเดียวก็คือ กองทุนต้องกู้เงินจากธนาคารในวงเงินที่น่าจะพอ เช่น 120,000 ล้านบาท ก็ไม่มากแค่ประมาณ 3.8 % ของงบประมาณรายจ่ายปีนี้เท่านั้นเอง บริษัท Top 10 ของไทยเขากู้ในวงเงินแค่นี้กันได้สบาย แล้วรัฐบาลจะกู้ไม่ได้หรือ ถ้าแบงค์เอกชนไม่ให้ก็กู้จากแบงค์รัฐทั้งหมดมากบ้างน้อยบ้าง เพราะเป็นการกู้มาเพื่อช่วยเหลือประชาชน ทั้งประเทศในยามวิกฤต อีกไม่นานเมื่อพ้นวิกฤตก็เริ่มทยอยใช้หนี้คืนได้
ถ้าแบงค์รัฐไม่ยอมเชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ควรเปลี่ยนคณะกรรมการธนาคารทั้งชุดเสียเลย แค่นี้พอจะทําได้ไหมครับ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘นายกฯ’ เรียกทีมเศรษฐกิจประชุมด่วน คาดถกลดผลกระทบน้ำมันแพง!
- อั้นไม่ไหว!! ‘กบง.’ เคาะขึ้นราคาก๊าซหุงต้มกก.ละ 1 บาท รวด 3 เดือน
- ราคาน้ำมันวันนี้ 16 มิ.ย. ‘เชลล์’ ปรับขึ้นทุกชนิด 40 สต. เช็คราคาดีเซล-โซฮอล์ล่าสุดที่นี่