Business

‘ศักดิ์สยาม’ เตรียมจับเข่า ผู้ว่าฯ กทม. สางปม ‘สายสีเขียว’

คมนาคม ส่งหนังสือถึงกทม.  สอบถามประเด็นข้อสังสัย พร้อมเทียบเชิญ ผู้ว่าฯ กทม. หารือร่วมกันปมรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัปดาห์หน้า ด้าน “ชัชชาติ” ลั่นพร้อมหารือร่วม “ศักดิ์สยาม” ทุกประเด็นที่เป็นปัญหา  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ นายสรพงษ์ ไพทูรย์พงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหนังสือไปยัง กทม. เพื่อสอบถามประเด็นที่ยังเป็นข้อสังสัยที่กระทรวงคมนาคมเคยสอบถามไป รวมทั้งทำหนังสือเชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร  (กทม.) และคณะทำงานร่วมระหว่าง กทม. และกระทรวงคมนาคม ตามข้อตกลงการลงนามในความร่วมมือระหว่างกันในการโอนย้ายสายสีเขียว จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ไปอยู่กับ กทม. มาหารือร่วมกัน

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ทั้งนี้เพื่อหาทางออกในประเด็น การขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกทม. เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก 30 ปี จากเดิมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปเป็นปี 2602 แลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเป็นปัญหาอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงคมนาคมมีแนวทางที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่า ให้ยึดตามหลักกฎหมายตามมติ ครม. รวมถึงตามหลักธรรมาภิบาล และประโยชน์ของประชาเป็นหลัก

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ด้านนายชัชชาติ  กล่าวว่ายินดีมากที่จะเข้าไปหารือร่วมกับนายศักดิ์สยาม  และกระทรวงคมนาคม หากได้รับหนังสือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามขณะนี้ ทางกทม. ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญหารือร่วมกันกับ กระทรวงคมนาคม ขณะเดียวกันก็ศึกษาจากประเด็นต่างๆที่ทาง กระทรวงคมนาคมเคยสอบถามมายัง กทม.เพื่อเตรียมข้อมูล

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทาง กระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเห็นคัดค้านต่อการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด พร้อมเสนอความเห็นเพิ่มเติม เข้า ครม. ทุกครั้งที่จะมีการเสนอ โดยเฉพาะใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

2. ประเด็นการคิดค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการเพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท

3. ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

4. ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม.ได้ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยกระทรวงคมนาคมได้ขอให้กทม.ชี้แจงทั้ง 4 ประเด็นนี้ให้ชัดเจนก่อน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight