Business

เศรษฐกิจเริ่มฟื้น-มาตรการผ่อนคลาย หนุนยอดใช้พลังงานเพิ่ม 2.1%

สนพ. คาดปีนี้ ยอดใช้พลังงานไทยโตขึ้น 2.1% เพิ่มขึ้นทุกประเภท จากเศรษฐกิจเริ่มฟื้น มาตรการผ่อนคลาย ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ ที่ราคาพุ่งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สถานการณ์พลังงานไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นสุดท้าย เพิ่มขึ้น 9.2%

ยอดใช้พลังงาน

ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศฟื้นตัว รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการใช้ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น ปรับตัวลดลง 0.8% จากการใช้ LNG ที่ลดลงในภาคการผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว (ธันวาคม 2564) ในครั้งนี้ได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจลง เนื่องจากภาวการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญลดลง และราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

ภาพรวมทั้งปั

การคาดการณ์ความต้องการพลังงานขั้นต้น ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.034 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศของไทย และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้คาดการณ์ว่า การใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน

การใช้น้ำมัน

คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.9% จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาด ส่งผลให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่ภาวะปกติ

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท

การใช้ก๊าซธรรมชาติ

คาดว่าจะลดลง 9.5% เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จึงมีการใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ

ขณะที่รัฐบาลได้มีการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตามในส่วนของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ได้มีมาตรการตรึงราคาขายปลีกอยู่ที่ 15.59 บาท/กิโลกรัม (เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 15 มิถุนายน 2565) รวมถึงมีมาตรการ เอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน คงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ 13.62 บาท/กิโลกรัม

การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์

คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 6.8% จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ในภาคอุตสาหกรรม

การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า

คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 8.2% ตามปริมาณน้ำฝน และน้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการนำเข้าไฟฟ้าจาก สปป.ลาว

นายวัฒนพงษ์ ยังได้รายงานผลการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV ชาติ) ซึ่งมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธาน

ทั้งนี้ได้วางเป้าหมายขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และเป็นกลไกสำคัญในการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

อีวีนโยบาย

ดังนั้น ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้ราคายานยนต์ไฟฟ้าใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาป (ICE) พร้อมทั้งกระทรวงพลังงานจะเร่งดำเนินการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้เพียงพอกับยานยนต์ไฟฟ้า

ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 944 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มีนาคม 2565) ขณะที่ยอดจำนวนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าถึงเดือนเมษายน ปี 2565 สะสมรวมทั้งสิ้น 5,614 คัน

นอกจากนี้ ยังขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่

1. มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้า Low Priority สำหรับผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าต่อเนื่อง ซึ่งที่ประชุมบอร์ด EV ชาติ เห็นชอบการขยายอัตราค่าไฟฟ้าถึงปี 2568 รวมถึงด้านสิทธิและประโยชน์สำหรับกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานพาหนะไฟฟ้า

ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการจัดทำ Platform กลาง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงมาตรการและวิธีการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด คอนโดมิเนียม

2. มาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนและการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่ประชุมมอบหมายให้ BOI และกรมสรรพสามิตพิจารณา

ขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการส่งเสริมเพิ่มเติมได้แก่ มาตรการสนับสนุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo