Business

เจาะ‘สินค้า-ผู้บริโภค’โตสวนตลาด FMCG ติดลบ 2.6%

แม้ตัวเลขเศรษฐกิจ มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยคาดการณ์ส่งออกเติบโต 9.7% ,อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เติบโต 11.6%  การลงทุนภาครัฐเติบโต 12%

แต่ในมุมของผู้ผลิตสินค้ายัง “ไม่รู้สึก” ว่ายอดขายดีขึ้น หรือผู้บริโภคมีเงินจับจ่ายมากขึ้น มาจากการลงทุนภาคเอกชน ยังขยายตัวไม่สูงอยู่ที่ 3.7% เช่นเดียวกับการบริโภคในประเทศที่เติบโต 3.2% รวมทั้งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ปีนี้คาดการณ์อยู่ที่ 77%  อัตราสูงเป็นอันดับ 13 ของโลก

นีลเส็น FMCG
สมวลี ลิมป์รัชตามร

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น จีดีพีไทยคงไม่กลับไปเติบโต 7% เหมือนในปี 2546  ดังนั้นท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% และหนี้ครัวเรือนสูงยังไม่ลดลง

ดังนั้นการทำงานของผู้ประกอบการต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงาน ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง ในยุคที่ผู้บริโภค และสามารถวัดผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตสินค้า และผู้ค้าปลีกยังเติบโตได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

“ในยุคดิจิทัล นักช้อปมีความซับซ้อน ดังนั้นค้าปลีกและผู้ผลิตต้องเข้าใจทุกพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยวิจัยความต้องการผู้บริโภค เพื่อโอกาสสร้างยอดขาย”

นีลเส็น FMCG

ไตรมาสแรก FMCG  ติดลบ

ยงยุทธ องค์วัฒนะพัฒน์ Executive Director, Sales Effectiveness  Lead  บริษัทนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจากตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคในประเทศยังเติบโตไม่สูง  ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภค ที่พบว่ายอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ไตรมาสแรกปีนี้ ติดลบ 2.6%

อย่างไรก็ตามจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงตั้งแต่กลางปีก่อน การลงทุนภาครัฐที่เริ่มเดินหน้าเมกะโปรเจคต่างๆ  โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะกระตุ้นภาคเอกชนเริ่มลงทุนเพิ่มขึ้นในปีนี้  จากนั้นเม็ดเงินจะเริ่มไหลเวียนเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเริ่มเห็นตัวเลขยอดขายในกลุ่มผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ก่อนคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้  ขณะที่ผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก รวมทั้งกำลังซื้อผู้บริโภคจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในไตรมาสแรกปี 2562

FMCG นีลเส็น

เจาะ’สินค้า-ผู้บริโภค’โตสวน FMCG ติดลบ

อย่างไรก็ตามพบว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีกลุ่มสินค้า FMCG ที่เติบโตได้ จากเทรนด์สินค้าพรีเมี่ยม ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยสินค้า FMCG กลุ่มพรีเมี่ยมเติบโต 4% ประกอบด้วย

  • สินค้าส่วนบุคคล(Personal care) กลุ่มพรีเมี่ยมมีส่วนแบ่งตลาด 44% เติบโต 4.2%
  • ของใช้ภายในบ้าน (Household) กลุ่มพรีเมี่ยมมีส่วนแบ่งตลาด 41% เติบโต 8.4%
  • สินค้ากระตุ้นซื้อ (Impulse) กลุ่มพรีเมี่ยมมีส่วนแบ่งตลาด 35% เติบโต 8.1%
  • เครื่องดื่ม (Beverage) กลุ่มพรีเมี่ยมมีส่วนแบ่งตลาด 33% เติบโต 2.5%

นีลเส็น FMCG

รวมทั้งปัจจัยการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ทำให้ประชากรในกลุ่มเมืองเพิ่มขึ้น จากปี 2553  มีสัดส่วน 44.08% ปี2559 เพิ่มขึ้นเป็น 51.54%  จังหวัดที่พื้นที่เมืองขยายตัวสูง คือ กรุงเทพฯ  เชียงใหม่  ระยอง กระบี่  การที่ประชากรในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นส่งผลให้คนกลุ่มนี้ ต้องการใช้สินค้าที่พรีเมี่ยมมากขึ้น

ปัจจัยการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีน โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายอันดับ 4 ที่นักท่องเที่ยวจีนต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวมากที่สุด รองจาก ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเก๊า โดยแหล่งท่องเที่ยวนยอดนิยมในไทย คือ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ นักท่องเที่ยวจีน 65%  ใช้จ่ายเงินไปกับการช้อปปิ้งและจ่ายเงินผ่านมือถือ เป็นอีกกลุ่มที่ สินค้า FMCG สามารถเจาะตลาดได้

นีลเส็น FMCG

อีกกลุ่มที่สำคัญคือ ตลาดผู้บริโภคสูงวัย ที่ถือเป็นตลาดกำลังซื้อสูงและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องพัฒนาสินค้าที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้ เพื่อโอกาสและยอดขายเติบโต

 

Avatar photo