กรมที่ดิน พัฒนาสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ เปิดบริการจดทะเบียนสิทธิ ทำนิติกรรมที่ดิน นอกพื้นที่ตั้งที่ดินได้ แค่จองคิวล่วงหน้า เช็ควิธีจองคิวที่นี่
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้พัฒนาบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชนโดยตรงนำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับการให้บริการ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจนั้น
กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินออนไลน์ ให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครสามารถจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินแห่งใดของกรุงเทพมหานครก็ได้ที่ใกล้บ้านหรือที่สะดวก โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสำนักงานที่ดินซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่
อย่างไรก็ตาม สิทธิหรือนิติกรรมที่จะดำเนินการจดทะเบียนต่างสำนักงานได้นี้จะต้องเป็นแบบที่ไม่มีการต้องประกาศหรือรังวัด ต้องมีเอกสารเป็นโฉนดที่ดินเท่านั้น และเจ้าของที่ดินต้องเข้าไปดำเนินการด้วยตนเอง
วิธีการจองคิวใช้บริการจดทะเบียนสิทธิ ทำนิติกรรมที่ดิน
- โหลดแอปพลิเคชั่น e-QLands เพื่อเข้าไปลงทะเบียนจองคิวล่วงหน้า 3 วันทำการ
- เข้าไปในแอปพลิเคชั่น
- กดเลือกจองคิวจดทะเบียนต่างสำนัก
- เลือกสำนักงานที่ใกล้บ้านหรือที่สะดวกรอการยืนยัน
- จากนั้นก็เดินทางไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดินที่จองไว้ได้
สำหรับบริการจดทะเบียนที่ดินต่างสำนักงานแบบออนไลน์ ซึ่งจะเพิ่มความสะดวก ลดลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดเวลาทำนิติกรรมได้มาก เพราะในแต่ละปี กรุงเทพมหานครมีผู้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมถึงปีละ 9 แสนรายการ โดยบริการนี้จะครอบคลุมที่ดินในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 2.2 ล้านแปลง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า บริการนี้เริ่มนำร่องในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่แรก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายจะขยายบริการจดทะเบียนที่ดินออนไลน์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ขณะที่ซึ่งในปี 2566-2567 จะขยายไปใน 10 จังหวัด แยกเป็น 4 จังหวัดในปี 2566 ได้แก่ อุบลราชธานี หนองคาย เชียงใหม่ และสงขลา และ 6 จังหวัดในปี 2567 ประกอบด้วยขอนแก่น ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี สิงห์บุรี
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กทม. ขยายเวลาชำระ-ยกเว้นภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใครได้บ้าง เช็คเลย!
- เช็คอัตราภาษีที่ดินปี 2565 ถ้าจ่ายล่าช้า จะเกิดอะไรขึ้น
- ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้างปี 2564 ต้องจ่ายเท่าไร หลังครม.เคาะคงเดิมถึงปี 66