เปิดผลวิจัย “บิวตี้บีสต์” เทรนด์คนเจ้าสำอางยุคใหม่ไร้ขีดจำกัดทางเพศ โอกาสเจาะตลาดเครื่องสำอาง 2.5 หมื่นล้านบาท
บริษัท ไอ-ดีเอซี แบงค็อก จับมือกับ เอ็มไอ กรุ๊ป เปิดผลการสำรวจที่น่าสนใจ พบปัจจุบันกระแส gender-neutral หรือการไม่จำกัดเพศ ได้เปลี่ยนทัศนคติต่อหนุ่มสาวยุคใหม่ที่มีต่อความสวยความงามเพิ่มมากขึ้น
นางสาวสุชาดา สุภาการ Head of Digital Strategic Planning บริษัท ไอ-ดีเอซี แบงค็อก จำกัด เปิดเผยว่า ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน มีวิวัฒนาการในเรื่องการใส่ใจดูแลตนเองอย่างเห็นได้ชัด
โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่ขณะนี้ได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์ ความสวยงาม และไลฟ์สไตล์ที่ต้องดูดีอยู่เสมอ
ล่าสุดจึงได้ทำความร่วมมือกับ บริษัท เอ็มไอ กรุ๊ป เพื่อทำการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรม กลุ่มบิวตี้บีสต์ (Beauty Beast) หรือหนุ่มสาวยุคใหม่ที่หลงใหลในเรื่องความสวยความงาม และต้องการปรับบุคลิกภาพของตนเองให้สมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้กลุ่มนักการตลาดได้รับข้อมูล และมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับความสวยความงามของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เพื่อนำไปกำหนดกลุยทธ์ทางการตลาดได้อย่างเหมาะสม ในการทำตลาดเครื่องสำอางมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
การศึกษาในครั้งนี้เน้นทำความเข้าใจทัศนคติ และพฤติกรรมของกลุ่ม Beauty Beasts โดยทำการศึกษา จำนวนทั้งหมด 414 คน แบ่งเป็นชาย 201 คน และ หญิง 213 คน ดังนี้
- กลุ่ม The Male Beasts เป็นชายแท้ กลุ่มคนเมือง อายุ 16 – 30 ปี มีรายได้ครัวเรือนระดับกลางถึงระดับสูง และใช้เครื่องสำอางของผู้หญิงในการแต่งหน้าเป็นประจำอย่างน้อย 3 ชนิด
- กลุ่ม The Female Beasts ผู้หญิงกลุ่มคนเมือง อายุ 20 – 35 ปี โดยมีรายได้ครัวเรือนระดับกลางถึงระดับสูง ที่ใช้เครื่องสำอางในการแต่งหน้าเป็นประจำและหลงใหลในวัฒนธรรมเคป๊อบ (K-Pop)
กลุ่ม บิวตี้บีสต์ ให้ความสำคัญกับความสุข-ความเป็นอยู่
จากการศึกษาพบว่า 60% ของกลุ่ม Beauty Beasts ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่และความสุขของตนเอง (Self-focused and self-care) ก่อนที่จะให้ความสนใจกับคนรอบข้าง
ความสุขของกลุ่มนี้เริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันมากกว่าการวางเป้าหมายเรื่องการประสบความสำเร็จในการเรียนหรือหน้าที่การงาน
นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมโดดเด่นในเรื่องการเป็น Trend Adapter ที่มักจะปรับเทรนด์ให้เหมาะสมกับสไตล์และความชอบของตนเองมากกว่าการเลียนแบบจากกระแสนิยม และ 96% ยังให้ความเห็นว่า ชอบที่จะตามเทรนด์ให้ทันและปรับให้เข้ากับสไตล์และความชอบเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล
อีกข้อมูลที่น่าสนใจในสังคม Beauty Beasts ที่เติบโตมากับ Digital Technology และเป็น Digital Native หนุ่มสาวกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักสร้างคอนเทนท์ในเรื่องที่แต่ละคนสนใจ ผ่านทางโซเชียลมีเดีย และหลาย ๆ คนอยากที่จะพัฒนาตนเองให้เป็น Content Creator หน้าใหม่
ทั้งนี้สะท้อนได้จาก 52% ของ Male Beasts และ 56% ของ Female Beasts ใช้เวลาในการแก้ไขปรับแต่ง รูปภาพ / คอนเทนท์ ก่อนโพสต์บนโซเชี่ยลมีเดีย ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผู้หญิงมักจะให้ความพิถีพิถันในการตกแต่งรูปภาพมากกว่าผู้ชาย
จากพฤติกรรมดังกล่าว ถือเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับนักการตลาดที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่ม Beauty Beasts ได้ด้วยการสร้างกิจกรรมทางการตลาดที่โฟกัสไปที่สิ่งสนุกสนาน และการสร้างแคมเปญที่ดึงดูดให้กลุ่ม Beauty Beasts อยากทำคอนเทนท์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์บนโซเชียลมีเดีย และเผยแพร่ไปยังผู้ใช้งานในแต่ละแพลตฟอร์ม
ขณะเดียวกัน ยังพบว่ากลุ่ม Male Beasts เริ่มสนใจแต่งหน้าตั้งแต่วัยมัธยม ใช้เครื่องสำอางผู้หญิงแต่งหน้าโดยเฉลี่ยถึง 9.3 ชนิดอยู่เป็นประจำ โดยมากถึง 78% ใช้รองพื้น 65%ใช้อายไลน์เนอร์ และ 56% ใช้ดินสอเขียนคิ้ว
สำหรับ 78% ของ Male Beasts เห็นด้วยว่า การใช้เครื่องสำอางเพราะการดูแลลุคของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตนเอง ซึ่งไม่ต่างจาก 81% ของ Female Beasts ที่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว
ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าค่านิยมในการดูแลตนเองไม่ใช่แค่เรื่องของเพศหญิง หรือเพศใดเพศหนึ่งอีกต่อไป
กลยุทธ์นักการตลาดและแบรนด์สินค้าที่ต้องการเข้าถึงกลุ่ม Beauty Beast
- เน้นการสื่อสารเรื่องความสวยความงามที่เป็นกลาง ไม่แบ่งแยกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะผู้หญิงหรือผู้ชายเท่านั้น
- ชูประโยชน์ที่ได้รับนอกเหนือการจากใช้ผลิตภัณฑ์ ว่าสามารถพัฒนาตัวตนหรือบุคลิกภาพของกลุ่ม Beauty Beasts ได้
- ต้องสื่อสาร ทำกิจกรรมทางการตลาดผ่านทาง Beauty Bloggers ทั้งหญิงและชายในช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น IG Stories หรือ Tik Tok อย่างสม่ำเสมอ
- แบรนด์ควรมีช่องทางการขายผ่านทั้งทางจุดจำหน่ายตามห้างร้านค้า และทางอีคอมเมิร์ซ
ด้าน นางสาววรินทร์ ทินประภา Chief Strategy Officer เอ็มไอ กรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมว่า สื่อออฟไลน์ ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างการรับรู้ ทำให้สินค้าและแบรนด์เป็นมีรู้จักและจดจำได้ดี โดยบทบาทของแต่ละช่องทางมีความแตกต่างกัน
เห็นได้จากผลสำรวจ 64% ให้ความเห็นว่า สื่อทีวีช่วยให้ได้รู้จักแบรนด์หรือสินค้าใหม่ ๆ 42% เผยว่าสื่อนอกบ้าน (Out of Home) ทำให้จดจำแบรนด์หรือสินค้าต่างๆได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ 37% มองว่า สื่อ ณ จุดขาย ช่วยกระตุ้นให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้ทันที และ 37% มองว่าสื่อวิทยุ ทำให้จดจำแบรนด์หรือสินค้าต่าง ๆ ได้ดี
ในส่วนบทบาทของสื่อออนไลน์ พบว่า 75% ใช้ เฟซบุ๊ก เป็นช่องทางให้การอัพเดตข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ 55% ใช้ ไลน์ เพื่อติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้างและซื้อสินค้า 55% ใช้ ยูทูบ ในการค้นหาไอเดีย และเพื่อความบันเทิง
ส่วนเฟซบุ๊ก แมสเซนเจอร์ เป็นอีกช่องทางที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเนื่องจากจำนวนถึง 66% มีประสบการณ์ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าทันทีผ่านช่องทางดังกล่าว
ด้าน อินสตาแกรม พบว่า 44% ใช้เป็นพื้นที่ในการหาแรงบันดาลใจและสร้างคอนเทนท์ของตัวเอง ขณะที่ TikTok มี 51% เคยมีส่วนร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ บน TikTok และใช้ TikTok เพื่อความบันเทิง
ส่วนสุดท้ายคือ ทวิตเตอร์ ซึ่ง 59% ใช้เพื่อสื่อสาร ติดตามไอดอล หรือเซเลบริตี้ต่าง ๆ เพื่อรู้สึกใกล้ชิดกับบุคคลที่เขาชื่นชอบมากขึ้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ละมุนมาก! ตำรวจหนุ่มสอนวิธีเช็คเครื่องสำอางของแท้-ของปลอม ปังมากบอกเลย
- สาวก ‘พรีออเดอร์’ อ่านด่วน! ยี่ห้อไหนบ้าง เครื่องสำอาง 18 ยี่ห้อดัง เคาน์เตอร์แบรนด์ปลอม
- ห้ามเด็ดขาด! อย.แจ้งพบ ‘สารห้ามใช้’ ในเครื่องสำอาง 2 ชนิด