Business

ปรับมาตรฐานใหม่ ‘หน้ากากอนามัย’ ชี้ ส่งออก-นำเข้า ต้องได้มาตรฐาน

สมอ.ปรับมาตรฐานใหม่ ‘หน้ากากอนามัย’ ให้ครอบคลุมที่มีขายในตลาด เพิ่มความเข้มข้น การป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค พร้อมประกาศเป็นสินค้าควบคุม นำเข้า–ส่งออก ต้องได้มาตรฐาน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งออกมาตรฐานหน้ากากoนามัย รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ หากมาตรฐานฉบับใดไม่ทันสมัยก็ให้ทบทวนแก้ไขปรับปรุง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน มีความปลอดภัยต่อการนำไปใช้ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค

หน้ากากอนามัย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม

โดยให้ครอบคลุมการใช้งานทุกประเภท  ทั้งเพื่อป้องกันฝุ่น pm 2.5 ป้องกันโรคติดต่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวัน

ปรับมาตรฐานใหม่ ให้ครอบคลุมที่ขายในตลาด หลากหลายรูปแบบ พร้อมประกาศเป็นสินค้าควบคุม

นายจุลพงษ์  ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  ในฐานะประธาน คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา กมอ. ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานหน้ากากoนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx ที่ สมอ. ได้แก้ไขใหม่ จากมาตรฐานเดิม มอก.2424-2562 เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายประเภท

รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคทางการค้าการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในอนาคต โดยเร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมในคราวเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้

มาตรฐานใหม่ เข้มการป้องกัน โดยเฉพาะหน้ากากทางการแพทย์ทางศัลยกรรม

หน้ากากอนามัย
นายจุลพงษ์  ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ด้านนายบรรจง  สุกรีฑา เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานฉบับเดิม มอก.2424-2562 ครอบคลุมเฉพาะหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวที่ใช้ป้องกันอนุภาค เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากบุคคลหนึ่งไปสู่บุคคลหนึ่ง

ได้แก้ไขเป็น มาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-25xx โดยมีสาระสำคัญของการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบจีบ แบบถุงหรือแบบปากเป็ด และแบบถ้วย โดยเพิ่มความเข้มข้นรายการทดสอบประสิทธิภาพการหายใจมากขึ้น  และมีการแบ่งประเภทและระดับการป้องกันใหม่ ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

มาตรฐานฉบับเดิม แบ่งระดับการป้องกันออกเป็น 3 ระดับ  ได้แก่ ระดับที่ 1 ใช้งานทั่วไป  ระดับที่ 2 ใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป  และระดับที่ 3 ใช้งานทางการแพทย์ในทางศัลยกรรม ไม่มีการแบ่งประเภทการใช้งาน

แต่มาตรฐานฉบับใหม่นี้ แก้ไขโดยอ้างอิงตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (ASTM F 2100-21)  แบ่งประเภทการใช้งานออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทใช้ทั่วไป  และประเภทใช้ทางการแพทย์ ซึ่งแบ่งตามระดับการป้องกันเป็น 3 ระดับ ได้แก่  ระดับที่ 1 ใช้งานทางการแพทย์ทั่วไป  ระดับที่ 2 ใช้งานทางการแพทย์ในหน่วยฉุกเฉิน และระดับที่ 3 ใช้งานด้านการแพทย์ในทางศัลยกรรม

โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยด้านการแพทย์ในทางศัลยกรรม จะเพิ่มการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์เนื้อเยื้อเพาะเลี้ยง  เนื่องจากเป็นหน้ากากที่แพทย์ต้องใช้ในห้องผ่าตัด จึงจำเป็นต้องปลอดภัยขั้นสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อคนไข้ในห้องผ่าตัด กรณีที่มีชิ้นส่วนหรือขุยของหน้ากากปนเปื้อนออกมา

หน้ากากอนามัย

นำเข้า-ส่งออก ต้องได้มาตรฐาน ฝ่าฝืนทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานจาก สมอ. จำนวน 14 ราย ซึ่งเป็นการยื่นขอมาตรฐานด้วยความสมัครใจ

เมื่อ สมอ.ประกาศเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทั้งทำและนำเข้า และจะต้องได้รับอนุญาตจาก สมอ. ก่อนดำเนินการ โดยสินค้าทุกชิ้นจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น

หากฝ่าฝืน จะมีโทษตามกฎหมาย ผู้ทำหรือนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

 

Avatar photo