Business

กรมการขนส่งทางบก ยันไม่ทิ้งคนขับแท็กซี่ ถก ธปท. หามาตรการช่วยเหลือเพิ่ม

กรมการขนส่งทางบก แจง มีมาตรการช่วยเหลือคนขับแท็กซี่ พร้อมหารือ ธปท. หาแนวทางช่วยเพิ่มเติม

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้เร่งชี้แจงสร้างความเข้าใจ กรณีนางสาวเกณิกา ตาปสนันทน์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย กังวลถึงสถานการณ์ของผู้ประกอบการขับรถแท็กซี่ ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาแก๊สและราคาน้ำมันที่พุ่งสูง

คนขับแท็กซี่

นอกจากนี้ ยังถูกซ้ำเติมด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้นแต่รายได้ลดลง จึงไม่สามารถจ่ายค่าประกันค่าไฟแนนซ์ เบี้ยปรับต่างๆ ได้

ทั้งนี้ นางสาวเกณิกา ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ โดยการเจรจากับบริษัทสินเชื่อต่าง ๆ และไฟแนนซ์ หามาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย พร้อมแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้

ขณะเดียวกัน ยังระบุว่า ปัจจุบันมีรถแท็กซี่จดทะเบียนในระบบกว่า 85,000 คัน แต่ต้องจอดทิ้งรอถูกยึดกว่า 40,000 คัน

นายเสกสม ชี้แจงว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก มิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของผู้ขับรถแท็กซี่แต่อย่างใด โดยขณะนี้ กรมการขนส่งทางบก อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่มีขอบข่ายหน้าที่โดยตรง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม

เสกสม อัครพันธุ์
เสกสม อัครพันธุ์

ที่ผ่านมา ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่แล้ว ได้แก่ มาตรการลดค่าใช้จ่าย อาทิ

  • การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 ปี เป็น 12 ปี
  • การอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีทางเลือกอื่นแทนเครื่องบันทึกการเดินทาง (GPS) ในรถแท็กซี่
  • มาตรการเพิ่มรายได้ โดยให้ติดตั้งสื่อโฆษณาบนรถแท็กซี่
  • กำหนดให้เรียกเก็บค่าสัมภาระได้ กรณีการให้บริการจากท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นอกจากนี้ได้มีมาตรการช่วยเหลือจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กระทรวงคมนาคม ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ผู้ขับรถสาธารณะทุกประเภท รวมถึงผู้ขับรถแท็กซี่ เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีผู้ขับรถแท็กซี่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 18,427 คน

ในส่วนของกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการติดฉากกั้นระหว่างที่นั่งผู้ขับรถกับคนโดยสาร (Partition) ภายในรถแท็กซี่นำร่อง จำนวน 3,000 คัน เพื่อช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อจากการไอหรือจามซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาด และสร้างความมั่นใจในการใช้บริการรถแท็กซี่

พร้อมกันนั้น ยังจัดทำโครงการช่วยเหลือผู้ขับแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุ 65 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยให้เงินช่วยเหลือในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ซึ่งมีผู้ได้รับเงินช่วยเหลือแล้ว จำนวน 4,811 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo