Business

ช้อปดีมีคืน ต่อลมหายใจค้าปลีก ดัชนีเดือน กพ. ส่งสัญญาณดีขึ้น วอนขยายมาตรการ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยดัชนีค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์ ส่งสัญญาณดีขึ้น วอนต่อมาตรการช้อปดีมีคืน 3 เดือน อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย จัดทำผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ช้อปดีมีคืน

ทั้งนี้ ผลสำรวจในภาพรวมพบว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอไมครอน จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 20,000 รายต่อวันและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการผู้ค้าปลีกไทย โดยภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น 9.3 จุด และอีก 3 เดือนข้างหน้ายังคงปรับดีขึ้นเล็กน้อยอีก 5.6 จุด

ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมจากมาตรการภาครัฐที่มาถูกเวลา ทั้งโครงการ คนละครึ่ง และ ช้อปดีมีคืน รวมถึงความร่วมมือของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่ายในการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น พร้อมกับการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

การตรึงราคากว่า 500 รายการมาตั้งแต่ปลายปี 2564 รวมทั้งมาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐเพิ่มอีกแรง ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG) ปรับเพิ่มขึ้น 15.2 จุด แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 จุด ซึ่งเกิดจากความถี่ในการจับจ่าย (Frequency Of Shopping) ที่เพิ่มขึ้น 16.3 จุด แต่ยอดซื้อต่อบิล Spending Per Bill หรือ Per Basket Size นั้นยังอยู่ในอัตราทรงตัวที่ 5.2 จุด

ดัชนี

ดังนั้นการจับจ่ายที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะการซื้อทีละน้อย แต่ซื้อบ่อยครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับความระมัดระวังในการจับจ่ายที่ซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะสินค้าหลายหมวดหมู่มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อสรุปดัชนีความเชื่อมั่น เดือนกุมภาพันธ์

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.7 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 9.3 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนมกราคมที่ 43.4 จุด สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ยังไม่มั่นคง เนื่องจากความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับราคาสินค้าที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเพียง 5.6 จุด จากระดับ 53.1 จุด ในเดือนมกราคม มาที่ 58.7 จุด เดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอไมครอนที่กระจายไปอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

2. ดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม จากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุด ทุกภูมิภาค

ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังกังวลในการฟื้นตัวของกำลังซื้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะราคาพลังงานและราคาอาหารสดมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ดัชนี

มุมมองผู้ประกอบการต่อกำลังซื้อและการแพร่ระบาดของโอไมครอน 

1. แนวโน้มการพิจารณาปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

  • 44% อาจจะพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกิน 5%
  • 33% รอการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเป็นทางการ

2. ผลกระทบต่อธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโอไมครอนเมื่อเทียบกับเดลต้า

  • 63% ผลกระทบโอไมครอนน้อยกว่าเดลต้า
  • 33% ผลกระทบโอไมครอนใกล้เคียงกับเดลต้า
  • 4% ผลกระทบโอไมครอนมากกว่าเดลต้า

3. ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการต่อ โครงการ ช้อปดีมีคืน 2565

3.1 จำนวนลูกค้าเมื่อเทียบเดือนมกราคม 2565 กับเดือนธันวาคม 2564

  • 59.5% จำนวนลูกค้ามาจับจ่าย มากขึ้น
  • 20.1% จำนวนลูกค้ามาจับจ่าย เท่าเดิม
  • 20.4% จำนวนลูกค้ามาจับจ่าย น้อยลง

3.2 จำนวนใบกำกับภาษี

  • 82.7% จำนวนใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น 1-5%
  • 11.4% จำนวนใบกำกับภาษีเพิ่มขึ้น 6-10%

หวังรัฐต่อเวลา ช้อปดีมีคืน 3 เดือน ขยายวงเงินเป็น 100,000 บาท

นายฉัตรชัยกล่าวว่า หากโครงการช้อปดีมีคืน สามารถทำเฟสต่อไปได้ โดยขยายเวลาเป็น 3 เดือน และขยายวงเงินเป็น 100,000 บาท ผลลัพธ์จะทำให้สามารถนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ไทยสามารถดำรงสภาพคล่องและคงการจ้างงานไว้ได้

LINE ALBUM โครงการแจกเงินของรัฐ ๒๒๐๓๐๔

ย้ำ 3 ข้อเสนอภาครัฐ

1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโดยภาครัฐ ให้มีการอนุมัติและดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

2. พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุด ภาครัฐควรพิจารณาใช้ทุกมาตรการ เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง เพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด

3. คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรพิจารณากระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ (Local Consumption) ผ่าน โครงการ คนละครึ่ง และ ช้อปดีมีคืน

จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังต้องมุ่งมั่นในการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและรอบด้าน

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ส่งเสริมให้เอกชนลงทุนภายในประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ท้ายที่สุดนี้คือ การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วน จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยได้ไปต่อ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo