Business

ค้าปลีกร่วมใจ ตรึงราคาสินค้าถึงสิ้นเดือนมี.ค. วอนรัฐเร่งปล่อยงบ 3.1 ล้านล้าน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมตรึงราคาสินค้าช่วยลดภาระให้ประชาชน พร้อมเสนอ 3 มาตรการรัฐ กระตุ้นการจับจ่าย แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ขอนำเสนอมาตรการเพื่อที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการช่วยเหลือประชาชน และภาคธุรกิจในภาวะที่ค่าครองชีพสูง และเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมตรึงราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ

มาตรการในส่วนของ สมาคมฯ และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่าย

1. ตรึงราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น

สมาคมฯ และซัพพลายเออร์ในภาคีเครือข่าย ยืนยันที่จะตรึงราคาสินค้าฯ จนถึงจบไตรมาสที่หนึ่งของปี 2565 ทั้งนี้ นโยบายการตรึงราคาจะมีการประเมินเป็นรายไตรมาส

2. เตรียมสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นให้กับประชาชน

สมาคมฯ ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

3. ช่วยฟื้นฟู SMEs ไทย

สมาคมฯ และภาคีเครือข่าย จะเร่งขยายในเรื่องการจัดหาแหล่งเงินทุน ให้ SMEs ไทยผ่านโครงการ Digital Supplychain Finance ของธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

นอกจากนี้ จะเร่งขยายและเพิ่มช่องทางการขายให้กับ SMEs เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ รวมทั้งยังคงยืนยันที่จะพยุงการจ้างงานในระบบค้าปลีกให้ อยู่ที่ 1.1 ล้านอัตรา

ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เริ่มตรึงราคาในหมวดสินค้าจำเป็น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จากนั้นในเดือนมกราคม 2565 จึงขยายสู่หมวดอาหารสด เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่

Pic2

สำหรับครั้งนี้ สมาคมฯ ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์รายใหญ่กว่า 30 ราย เพื่อตรึงราคาให้ครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 500 รายการ จนถึงจบไตรมาสที่หนึ่งของปี 2565

สมาคมฯ ยังเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ที่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะโครงการ คนละครึ่ง ที่ภาครัฐเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยจูงใจให้คนไทยออกมาจับจ่าย ใช้สอยมากยิ่งขึ้น ถือเป็นประโยชน์โดยตรงต่อเศรษฐกิจภาพรวม

อีกโครงการหนึ่งที่มาได้ทันเวลาคือ ช้อปดีมีคืน ที่เป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยจากผู้ที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด ในระยะเวลา อันสั้น และใช้งบประมาณน้อยที่สุด โดยทั้ง 2 โครงการนี้ ถือเป็นการนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ต่ออายุผู้ประกอบการ และ SMEs ไทย

เสนอ 3 มาตรการรัฐ

1. เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่มีวงเงินงบประมาณถึง 3.1 ล้านล้านบาท ให้มีการอนุมัติและดำเนินการเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

2. การพยุงราคาพลังงานให้คงที่ โดยการใช้ทุกมาตรการเพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด

ถึงแม้รัฐบาลได้มีมาตรการพยุงราคาน้ำมัน ปรับลดภาษีอัตราน้ำมันดีเซลสรรพสามิต และน้ำมันอื่น ๆ 3 บาท ต่อลิตรเป็นระยะเวลา 3 เดือนแล้ว อาจจะยังไม่เพียงพอ จึงควรพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง ซึ่งค่าขนส่งถือว่ามีสัดส่วนถึง 8-10% ของต้นทุนสินค้า

3. กระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง และ  ช้อปดีมีคืน ที่ภาครัฐดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน

ขณะเดียวกัน ขอให้ภาครัฐพิจารณาโครงการ ช้อปดีมีคืน เฟสสองเพิ่มเติม และให้ยืดทั้งระยะเวลาโครงการ รวมถึงวงเงิน ที่สามารถใช้จ่าย โดยเพิ่มจาก 30,000 บาท เป็น 100,000 บาท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo