Business

‘บิ๊กแอร์เอเซีย’ ขอลดข้อบังคับ ‘Test and Go – Thailand Pass’ หลังแบกภาระหลังแอ่น

“โทนี่ เฟอร์นานเดส” บิ๊กบอส แอร์เอเซีย บุกคมนาคม วอนรัฐบาลเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ASEAN หลังได้รับผลกระทบจากโควิด ขอให้รัฐเร่งมาตรการช่วยเหลือลดข้อบังคับ จากมาตรการ Test and Go และ Thailand Pass หลังแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายหลังแอ่น  “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” พร้อมหาทางช่วยชวนแอร์เอเซีย บินตรงมาเลเซียมาเบตง หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมเตรียมการเปิดการบินในประเทศว่า การประชุมครั้งนี้ มีนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแคปปิตอล เอ (กลุ่ม แอร์ เอเชีย) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ เพื่อรับทราบปัญหาที่สายการบินประสบอยู่ ทางรัฐบาลไทยยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน

58815 1

ทั้งนี้เพื่อวางแผนในการฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ ให้กลับมาเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงกฎระเบียบ แนวทางด้านมาตรการสาธารณสุข และการเดินทางระหว่างประเทศให้มีความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายในภาพรวมของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยยังคงความปลอดภัยแก่คนไทยตามมาตรการทางสาธารณสุข

S 19382373

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ายินดีที่จะช่วยสนับสนุน เพื่อให้การเดินทางระหว่างประเทศ มีความสะดวกขึ้น และพร้อมสนับสนุนการเปิดเส้นทางการบินใหม่ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ยินดีเปิดรับทุกสายการบิน ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนการลงทุนเพื่อพัฒนาให้ไทย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางอากาศของอาเซียน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

S 19382376

กระทรวงคมนาคมยังเชิญชวนให้ แอร์เอเชีย ลงทุนในเครื่องบิน ATR  เปิดธุรกิจเส้นทางการบินเชื่อมเมืองท่องเที่ยวและเมืองสำคัญต่าง ๆ ในมาเลเซีย กับ ท่าอากาศยานเบตง เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงการเดินทางไปยังภูมิภาคอื่นของไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการพบกับผู้บริหารสายการบินแอร์เอเซียแล้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงคมนาคมยังได้พบกับผู้บริหาร บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อก จำกัด เพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทางการบินเส้นทางใหม่ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ด้วยเช่นกัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่าจากการรวบรวบข้อมูลของสำนักการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พบว่า ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนมกราคม 2565 เส้นทางการบินภายในประเทศที่มีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด อันดับ 1เส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ จำนวน 923,714 คน อันดับ 2  กรุงเทพฯ – ภูเก็ต จำนวน 695,557 คน และอันดับ 3 กรุงเทพฯ – หาดใหญ่ จำนวน 474,152 คน

603191

ส่วนเส้นทางการบินระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารใช้บริการสูงสุด อันดับ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – ดูไบ 76,671 คน อันดับ 2  กรุงเทพฯ – สิงคโปร์ จำนวน 74,446 คน และอันดับ 3  กรุงเทพฯ – โดฮา จำนวน 72,008 คน ยังได้มีการประมาณสถานการณ์ แนวโน้มการฟื้นตัวของผู้โดยสารระหว่างประเทศไว้ 3 กรณี ประกอบด้วย กรณีดีที่สุด (Best Case) กรณีฐาน (Base Case) และกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงดำเนินการตาม มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ

นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแคปปิตอล เอ (กลุ่ม แอร์ เอเชีย) กล่าวว่า แอร์เอเชีย มีความตั้งใจที่จะช่วยสนับสนุนและฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ASEAN จากสถานการณ์ COVID-19 อีกครั้ง  สายการบินต้องการผลักดันการลดข้อบังคับต่าง ๆ จากมาตรการ Test and Go และ Thailand Pass  ขณะนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในภาพรวมที่ค่อนข้างสูง และเป็นภาระของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ตัดสินใจเดินทางระหว่างประเทศ

โดย แอร์เอเชีย ได้ยกตัวอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ ที่ลดความยุ่งยากในการตรวจสอบมาตรการด้านสาธารณสุขลง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงและนักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวฟิลิปปินส์มากขึ้น รวมถึงแอร์เอเชียแสดงความจำนงที่จะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางใหม่ ๆ ในรูปแบบ Direct Flight กับต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในส่วนภูมิภาค และช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยว เห็นถึงความสวยงามในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของไทย ยังมีแผนที่พัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของภูมิภาคอาเซียน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight