Business

จับตาครม.วันนี้ระอุ! ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว คมนาคมเปิดโปง! ‘จ้างเดินรถ’ ไม่ผ่านสภากทม.- ผวาผิดพรบ.ฮั้ว

คมนาคมเปิดศึกมหาดไทยในครม.วันนี้  เตรียมเปิดโปง ประเด็นกฎหมาย  ค้านครม. อนุมัติสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผวาผิดกฎหมาย กรณีการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หวั่นผิดพรบ.ฮั้ว  ผงะ!! พบปม “จ้างเดินรถ” ไม่ผ่านสภา กทม. แต่ก่อหนี้ไปแล้ว 17,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้หากกระทรวงมหาดไทย มีการเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ทางกระทรวงคมนาคม ได้เตรียมข้อทักท้วงเสนอที่ประชุมครม.ไว้แล้ว เกี่ยวกับประเด็นข้อกฎหมายการโอนกรรมสิทธิ์ของโครงการอยู่หลายประเด็น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เสนอความเห็นไปแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยประเด็นที่เสนอคัดค้านในการประชุมครม.วันนี้ ประกอบด้วย 1. ตามที่มีเอ็มโอยู เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2559 ระบุว่าทาง รฟม. จะอำนวยความสะดวกให้กทม. สำหรับการเข้าติดตั้งและทดสอบระบบไฟฟ้าและเครื่องกลในช่วงระหว่างงานก่อสร้างโยธาเท่านั้น จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กรรมสิทธิ์ของโครงการเป็นของรฟม. ตามหมวด 4 สัมปทานแห่ง พรบ.รฟม.ปี 2543 การที่กทม.ไปดำเนินการ ว่าจ้าง BTS ติดตั้งระบบส่วนต่อขยาย ปี 2559 และว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าถึงปี 2585 โดยยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถูกต้องหรือไม่

2. เอ็มโอยู เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 การอนุญาตกทม. เข้าพื้นที่ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าได้ตามความเหมาะสม และสามารถบริหารจัดการเดินรถในระหว่างกระบวนการโอนกรรมสิทธิ์ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า กรรมสิทธิ์ของโครงการเป็นของรฟม. ตามหมวด 4 สัมปทานแห่ง พรบ.รฟม.ปี 2543  การที่กทม.เป็นหนี้ BTS ตั้งแต่ ปี 2559 แล้วนำหนี้ดังกล่าวมาเป็นต้นทุน แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานถึงปี 2602 โดยที่ยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถูกต้องหรือไม่  

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

3. กรรมสิทธิ์จะเป็นของกทม. ก็ต่อเมื่อได้ชำระภาระทางการเงินของโครงการครบถ้วน และไปดำเนินการทางทะเบียน เกี่ยวกับที่ดิน ตามขั้นตอนกฎหมาย การโอนกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อโอนกรรมสิทธิ์สมบูรณ์แล้ว จึงจะดำเนินการตาม คำสั่ง คสช.ที่ 3/ 2562 มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินการตาม พรบ.รฟม. 2543 หมวด 4

อย่างไรก็ดี หากกระทรวงมหาดไทย เสนอเรื่องเข้าครม.วันนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เตรียมข้อโต้แย้งในประเด็นทางด้านกฎหมาย เกี่ยวกับการติดตั้งระบบไฟฟ้าและจ้างเดินรถ ประกอบด้วยงานส่วนที่ 1: การติดตั้งงานระบบ มีการก่อหนี้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ที่ กทม.ว่าจ้าง KT. ติดตั้งงานระบบเดินรถ มีประเด็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างงานระบบเดินรถดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ และมีการแข่งขันทางด้านราคา เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและประชาชนหรือไม่ 

ทั้งนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า การว่าจ้างเอกชนรายเดิมติดตั้งระบบรถไฟฟ้าโดยไม่ได้ เปิดให้เกิดการแข่งขัน จะเข้าข่ายพรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2564  (กฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับฮั้ว) หรือไม่ 

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ส่วนงานที่ 2: การจ้างเดินรถ ก่อหนี้ประมาณ 17,000 ล้านบาท การที่กทม.ว่าจ้าง KT. เดินรถ ทำให้ก่อหนี้แก่กทม. เป็นจำนวนมาก ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ซึ่งระบุให้ กทม./KT.จะต้องเสนอ สภา กทม. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการก่อหนี้ หรือไม่ หากไม่มีการดำเนินการอาจไม่มีอำนาจในการสั่งจ้าง 

ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กทม./ KT. จะต้องเสนอสภา กทม. พิจารณาให้ความเห็นชอบ การจัดซื้อและการก่อหนี้ก่อน ซึ่งไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า กทม./ KT. ได้ดำเนินการเสนอสภา กทม. พิจารณา จึงต้องพิจาณาว่าการดำเนินการดังกล่าว มีความถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

S 7880772

อย่างไรก็ดี การก่อหนี้รวมประมาณ 37,000 ล้านบาท หนี้ทั้ง 2 ส่วน ยังคงมีประเด็นการดำเนินการที่ยังไม่ถูกต้อง ตามระเบียบกฎหมาย โดยกทม. กลับนำปีะเด็นดังกล่าวเป็นข้อเสนอครม. เพื่อนำหนี้ทั้งสองส่วน เป็นผลประโยชน์ให้แก่รัฐ ซึ่งหากครม. เข้าไปเห็นชอบด้วย อาจถือเป็นเจตนาพิเศษ ในการชดเชยหนี้อันมิชอบด้วยกฎหมาย 

ส่วนการติดตั้งระบบไฟฟ้าและจ้างเดินรถ ดังนั้นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการว่าจ้างเดินรถระหว่าง KT. กับเอกชน ต้องพิจารณาว่าได้ผ่านการพิจารณาของสภา กทม. หรือไม่ กรณีที่ไม่ได้ผ่านสภา กทม. เป็นข้อบัญญัติในการรับรู้แหล่งงบประมาณ ในการว่าจ้าง ก็ต้องพิจารณาว่า ผู้บริหารกทม. มีอำนาจในการว่าจ้างหรือไม่ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight