Business

เปิดไทม์ไลน์ ‘โอน 3 สนามบิน’ สังกัดทอท.

“ศักดิ์สยาม” เปิดไทม์ไลน์โอน 3 สนามบิน “อุดรธานี-กระบี่-บุรีรัมย์” จาก ทย. มาสังกัด ทอท. มั่นใจเสนอครม.ได้เดือนเม.ย.นี้ คาดโอนย้ายได้สิ้นปีนี้  ด้าน”เอ็มดีทอท.” ยันมีความจำเป็นต้องรับโอนสนามบินรับปริมาณ ผู้โดยสารระหว่างภูมิภาค 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการเพิ่มศักยภาพสนามบินในภูมิภาค รองรับการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคของประเทศว่า ขณะนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT  และ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้ดำเนินการร่วมกันที่จะโอนย้าย สนามบินอุดรธานี สนามบินกระบี่ และสนามบินบุรีรัมย์ จากที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทย. มายัง ทอท. ล่าสุด ทาง ทอท. ได้กำหนดแผนการดำเนินงาน Action Plan ที่จะเข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของ ทย. ทั้ง 3 แห่งแล้ว  จะสามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบแนวทางความรับผิดชอบได้ประมาณเดือนเมษายน 2565

โอน 3 สนามบิน

เปิดไทม์ไลน์ ‘โอน 3 สนามบิน’ สังกัดทอท.

หลังจากนั้น ทาง ทย. และ ทอท.จะหารือร่วมกันเพื่อสรุปความร่วมมือในการบริหารจัดการท่าอากาศยานร่วมกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศ ก่อนที่กระทรวงคมนาคม จะเสนอ ครม. เพื่อรับทราบความร่วมมือระหว่าง ทย. และ ทอท.ในเดือน กรกฎาคม 2565 หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการในรายละเอียดต่างๆ ของการโอนย้าย คาดว่าจะมาสามารถโอนความรับผิดชอบของทั้ง 3 สนามบินได้อย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2565

โอน 3 สนามบิน

โอน 3 สนามบิน

โอน 3 สนามบิน

 

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการร่วมกันกับ ทย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับโอน 3 สนามบิน มาสังกัด ทอท. มีความคืบหน้าไปมาก  เป็นการหารือร่วมกันในรายละเอียดต่างๆ ซึ่งทอท. มีความต้องการที่จะเข้าบริหารจัดการและพัฒนาทั้ง 3 สนามบิน เนื่องจากสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดโควิด จะพบว่า สนามบินในสังกัด ทอท.ทั้ง 6 สนามบินประกอบด้วยสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย และ สนามบินภูเก็ต มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 142ล้านคนต่อปี และเป็นผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิถึง 65 ล้านคนต่อปี และการพฒนาขยายขีดความสามารถของแต่ละสนามบินก็มีข้อจำกัด

โอน 3 สนามบิน
ภาพจาก AOT Official

ดังนั้นการขยายขีดความสามารถสนามบินในภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารเพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคของประเทศ หรือ Hub ทางการบิน จึงเป็นสิ่งที่ ทอท. ต้องเร่ง เนื่องจาก ทอท. มีข้อได้เปรียบที่มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการผ่านสนามบิน ทอท.ต่อปีกว่า 85%ของปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศไทย ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะพัฒนาโครงข่ายทางอากาศของประเทศเช่นกัน ประกอบกับห้วงอากาศที่แออัดอยู่ในปัจจุบันจะแออัดอยู่บริเวณสนามบินที่ ทอท.บริหาร กล่าวคือ ทางเหนือบริเวณ สนามบินเชียงใหม่ ทางใต้ บริเวณสนามบินภูเก็ต และ ภาคกลางบริเวณกรุงเทพฯ คือบริเวณสนามบินดอนเมือง และ สนามบินสุวรรณภูมิ แต่กลับพบว่า น่านฟ้าที่ยังคงมีการจราจรทางอากาศที่เบาบาง คือ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ของไทย ทั้งทางอีสานตอนบนและอีสานตอนล่าง

นายนิตินัย กล่าวว่า ทอท.จึงมีศักยภาพในการบริหารจัดการ และการทำการตลาดไปยัง Hub ใหม่จึงเป็นเรื่องที่ได้เปรียบซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ทอท. ในฐานะผู้มีลูกค้าในมือจำนวนมากและยังมีความพร้อมทางการลงทุนใน(รวมถึงด้านเทคโนโลยีทันสมัยราคาแพง) จึงเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการดำเนินตามนโยบายรัฐบาลในการสร้าง Hub ทางอีสานตอนบน (อุดรธานี) และอีสานตอนล่าง (บุรีรัมย์) เพื่อเป็นประตูสุ่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว และกัมพูชา เป็นสำคัญ ส่วนสนามบินกระบี่นั้นจะรับบริหารจัดการจากเหตุผลที่แตกต่างจากสนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ เนื่องจากการเข้าบริหารจัดการสนามบินกระบี่ เนื่องจากความแออัดของสนามบินภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ตมีลักษณะเป็นเกาะ ไม่สามารถขยายศักยภาพได้เพิ่มขึ้นอีก

โอน 3 สนามบิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight