Business

แท็กทีม! ‘คมนาคม’ ดาหน้ายก 4 ข้อ ค้านกทม.ขยายสัมปทานสายสีเขียว 30 ปี

รถไฟฟ้าสายสีเขียว  กระทรวงคมนาคม ตั้งโต๊ะชี้แจงปัญหาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โชว์ตัวเลขผลการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ชี้ชัดหลังหมดสัมปทาน หากภาครัฐเป็นผู้บริหารเดินรถเอง จะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งมีกระแสเงินสดเหลือมากกว่า 435,132 ล้านบาท ส่วนการกำหนดราคาค่าโดยสารจะเป็นธรรมประชาชนเข้าถึงบริการได้มากกว่า

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัด กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ,นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง  เปิดแถลงข่าว กรณีการเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายสีเขียว คมนาคมดาหน้าเปิดศึกยก 4 ข้อค้านกทม. 

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมยืนยัน 4 ประเด็นสำคัญที่เคยเสนอความเห็นแก่คณะรัฐมนตรี

1. กระทรวงคมนาคม ยึดหลักความถูกต้องและผลประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าโดยสารที่จะมีจากปัจจุบันไปถึงปี 2602  เห็นว่ารถไฟฟ้าทุกระบบจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมเพื่อให้เกิดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

2. โครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีบันทึกลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ที่จะรับโอนให้กรุงเทพมหาคร(กทม.) ทาง กทม. ยังไม่เคยจ่ายค่าชดเชยในการก่อสร้างให้กับ รฟม. ครบ และการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับ กทม. ทางรฟม. ให้กทม. เข้าพื้นที่ เพื่อจัดเดินรถให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เท่านั้น ส่วนภาระหนี้สินที่ กทม. มีการว่าจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถนั้นทาง รฟม. ยืนยันว่าไม่ได้รับทราบหนี้สินในส่วนที่กทม.ไปว่าจ้างเอกชนเดินรถแต่อย่างใด

3. ขณะที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.)ได้เผยข้อมูลตามผลศึกษาที่เป็นของกรุงเทพมหานครเ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์ โครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในช่วงระยะเวลาที่ถูกอ้างอิงว่าจะมีการขยายสัมปทานถึงปี 2602 มีตัวเลขชัดเจนว่า กรณีหมดสัมปทาน และ รัฐเป็นผู้ดำเนินการเองระหว่างปี 2562 ถึง 2602 โครงการจะมีกระแสเงินสดสุทธิเป็น 467,822 ล้านบาท แต่หากเอกชนดำเนินเข้ามาดำเนินการแทน กทม.จะมีกระแสเงินสดเพียง 32,690 ล้านบาทเท่านั้น  ทำให้เห็นว่าหากภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการเดินรถเอง จะทำให้รัฐมีกระแสเงินสดมากกว่าให้เอกชนดำเนินการถึง 435,132 ล้านบาท ที่สำคัญการที่รัฐเป็นผู้บริหารโครงข่ายเองจะมีนัยยะสำคัญในการกำหนดค่าแรกเข้าของโครงข่ายระบบไฟฟ้าทั้งหมดเป็นอัตราที่เหมาะสมและช่วยแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ผู้โดยสารทุกกลุ่มสามารถเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าได้

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

4. ที่ผ่านมา รฟม. ยืนยันถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินตลอดแนวโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง และปัจจุบันยังไม่สามารถโอนหนี้สิน จากการก่อสร้างช่วงหมอชิต-คูคต และ กระทรวงคมนาคม ได้ทำหนังสือทวงถามถึง กทม เป็นระยะแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ  ในเรื่องของการโอนกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้ได้มีการนัดหมายเบื้องต้นระหว่างกระทรวงคมนาคมและ กทม. แล้ว ซึ่งจะมีหารือร่วมกันภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight