Business

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชง 5 ข้อลดผลกระทบ หมูแพง แนะนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็ง

สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอ 5 แนวทางลดผลกระทบหมูแพง แนะนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งแบบมีเงื่อนไข เน้นจากแหล่งผลิตปลอดสารเร่งเนื้อแดง

จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever : ASF) จนทำให้หมูล้มตายจำนวนมากและทำให้ผลิตลูกหมูได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดปัญหาหมูแพงตามมา

หมูแพง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคคงได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากสื่อสาธารณะ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเนื้อหมูไปยังต่างประเทศ และการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู รวมไปถึงการปกปิดข้อมูลการระบาด จนทำให้การจัดการปัญหาล่าช้าและไม่ทันการณ์ กระทั่งหมูทั้งระบบมีน้อยลง

สอบ. ได้มีข้อเสนอ แนวทางลดผลกระทบจากเนื้อหมูราคาแพงต่อผู้บริโภค ดังต่อไปนี้

1. นำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวแบบมีเงื่อนไข จากแหล่งผลิตที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น

2. ปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิก บอร์ด)

3. ผลักดันท้องถิ่นให้สนับสนุนเกษตรรายย่อยเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ

4. ผู้บริโภคร่วมมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ หรือหมูหลุม เพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ

5. สนับสนุนการวิจัยการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และเพิ่มการผลิตโปรตีนจากพืชที่มีราคาถูกกว่า และมีส่วนในการลดโลกร้อน

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค สอบ.
สารี อ๋องสมหวัง

สอบ.มองว่า ทางออกของผู้บริโภคในวิกฤตราคาหมูครั้งนี้ มีความซับซ้อนอยู่ในระดับหนึ่ง แม้ว่าข้อเสนอระยะสั้นที่หลายฝ่ายเห็น ว่าอาจมีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งชั่วคราวจากต่างประเทศ เนื่องจากปริมาณเนื้อหมูมีไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ รวมทั้งยังมีราคาแพงจนไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าเนื้อหมูแช่แข็งดังกล่าวนั้นจะต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนและสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการบริโภคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจำกัดเฉพาะเนื้อหมูที่มาจากแหล่งผลิตที่ปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงเท่านั้น

ส่วนข้อเสนอระยะยาวนั้น รัฐควรต้องหาแนวทางในการทำให้เกิดโครงสร้างการเลี้ยงหมูของเกษตรรายย่อยในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยผู้เลี้ยงหมูที่ล้มหายไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย ไม่ให้เกิดการผูกขาดด้านราคาที่ขึ้นอยู่กับบริษัทขนาดใหญ่หรือผู้เลี้ยงรายใหญ่เท่านั้นดังเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

Pig Crisis

นอกจากนี้ ผู้บริโภคอาจต้องมีส่วนรับผิดชอบที่จะทำให้เกิดกระบวนการเลี้ยงหมูที่ปลอดภัย ลดการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นต้นตอของโรคระบาดในหมู หรือต้นตอของความไม่ปลอดภัย จนเป็นสาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาในมนุษย์ในท้ายที่สุด

ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีบทบาทในการทำให้เกิดการสนับสนุนการเลี้ยงหมูแบบธรรมชาติ ที่รู้จักกันในนาม ‘หมูหลุม’

ขณะที่อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การกำหนดให้มีแนวทางลดการบริโภคเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่เพิ่ม คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดังนั้น จึงมองว่าควรมีการสนับสนุนการศึกษาวิจัยในสถาบันการศึกษาเรื่องผลกระทบของปศุสัตว์ขนาดใหญ่ต่อภาวะโลกร้อน และมีทางเลือกใหม่ในการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชที่นำมาทดแทนเนื้อสัตว์ที่มีราคาแพง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo