Business

อย่าหาทำ!! คปภ. เค้นมือโพสต์จ้างเด็กเอ็นฯติดเชื้อ หวังเคลมประกันโควิด

เลขาธิการ คปภ. สั่งทีมกฎหมาย ตรวจสอบกรณีโพสต์ จ้างเด็กเอ็นฯติดเชื้อ หวังเคลมประกันโควิด หากพบผิดจริงจัดการขั้นเด็ดขาด เตือนอย่าเสี่ยงทำ เจอข้อหาฉ้อฉล อาจชวดเงินประกัน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ ประกาศจ้างเด็กเอ็นฯติดเชื้อโควิดและมีผลตรวจ ATK ยืนยันผล เพื่อต้องการติดเชื้อโควิดและเรียกร้องเอาเงินประกันภัยจากบริษัทประกันภัย

จ้างเด็กเอ็นฯติดเชื้อ

สำหรับการกระทำในลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัย และอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

สำนักงาน คปภ. ได้ส่งทีมสายกฎหมายและคดี เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบตัวผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ผู้โพสต์ดังกล่าวได้มีการเอาประกันภัยโควิด (covid-19) กับบริษัทแห่งหนึ่งด้วย

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. จะเร่งตรวจสอบ และหากพบการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะนอกจากผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจะกระทำความผิดต่อกฎหมายแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต

นอกจากนี้ ยังอาจเป็นเหตุให้ไม่ได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย (โควิด-19) หากเข้ากรณีการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งหากเข้าลักษณะทุจริต ก็อาจถูกดำเนินคดีกรณีเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยอีกด้วย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ

การนำเข้าข้อมูลผ่านสื่อสารสนเทศ สามารถตรวจสอบหมายเลข IP Address ของผู้โพสต์ได้ และเมื่อทราบตัวผู้กระทำความผิด ก็จะสามารถทราบได้ว่าผู้กระทำจงใจกระทำความผิดเอง หรือเข้ามาพิมพ์ด้วยความคึกคะนอง หรือมีผู้ใช้ให้เข้ามาปล่อยข่าวให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย

ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัย มีกลไกการป้องกันที่กำหนดให้บริษัทประกันวินาศภัยสามารถกระทำได้ โดยให้บริษัทมีระบบตรวจทานความถูกต้องของการรับประกันภัยและข้อมูลเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ที่ชัดเจนและสามารถตรวจสอบได้

ส่วนในเงื่อนไขกรมธรรมประกันภัย เจอ จ่าย จบ จะมีกำหนดเงื่อนไขทั่วไป “กรณีมีเหตุสงสัยว่าการเรียกร้องเป็นไปตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่ ให้บริษัทฯ มีสิทธิตรวจสอบและขยายระยะเวลาการจ่ายออกไปตามความจำเป็นไม่เกิน 90 วัน” ซึ่งอาจจะกระทบต่อการจ่ายเคลม เพราะบริษัทมีสิทธิอ้างเป็นเหตุใช้เวลาในการตรวจสอบ

ฝากย้ำเตือนประชาชนว่าเมื่อทำประกันภัยแล้ว และเข้าไปที่เสี่ยงเพื่อหวังผลให้ติดเชื้อแล้วเคลมประกันหรือเอาตัวเองไปเสี่ยงรับเชื้อ เพื่อหวังเงินประกันภัย บริษัทอาจจะอ้างเหตุไม่จ่ายสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเป็นกรณีมีการเจตนา จงใจ โดยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ขณะเดียวกัน หากมีหลักฐาน และถ้าเข้าข่ายเป็นการฉ้อฉลประกันภัยจะมีความผิดทางอาญาด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo