Business

ครม.เคาะปรับปรุงแผนก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท เสริมแกร่งเศรษฐกิจ

ครม.เคาะปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยปรับแผนก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องทางการเงิน สร้างความเข้มแข็งฟื้นฟูเศรษฐกิจ -การคลัง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ พิจารณาอนุมัติ ปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 1 ซึ่ง เสนอโดย คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ดังนี้

ปรับแผนก่อหนี้ใหม่

ปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่

1. ปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่ม 20,700 ล้านบาท เดิมจากตามมติ ครม. 28 กันยายน 2564 วงเงิน 1,344,783.84 เป็น 1,365,483.84 ล้านบาท ปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม เปลี่ยนแปลง 31,588.34 ล้านบาท จากวงเงินเดิมตามมติ ครม. 28 กันยายน 2564 จำนวน 1,505,369.64 ล้านบาท เป็น 1,536,957.98 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,941.85 ล้านบาท เป็น 362,233.72 ล้านบาท จากวงเงินเดิมตามมติ ครม. 28 กันยายน 2564 อยู่ที่ 339,291.87 ล้านบาท

โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 75,230.19 ล้านบาท ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบฯ 65 ปรับปรุงครั้งที่ 1 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ แผนการก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท จะประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 700 ล้านบาท คือ

  • แผนเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) จำนวน 200 ล้านบาท
  • แผนเงินกู้เพื่ดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) จำนวน 500 ล้านบาท
  • สำหรับอีก 20,000 ล้านบาท เป็นแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) โดยปรับเพิ่มเงินกู้ระยะสั้น เพื่อเสริมสภาพคล่องในรูปแบบ credit line เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำไปชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกน่ำมันเชื้อเพลิง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลไม่มีแผนการก่อหนี้ใหม่
ปรับแผนก่อหนี้ใหม่
นายธนกร วังบุญคงชนะ

บริหารจัดการเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มขึ้น 31,588.34 ล้านบาท นั้น ประกอบด้วยแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล ปรับเพิ่มขึ้น 52,793 ล้านบาท และ แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ ปรับลดลงสุทธิ 21,204.66 ล้านบาท โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มวงเงินกู้ออมสิน จากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 956 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับลดวงเงินกู้ ธ.ออมสิน และ ธ.กรุงไทย จำนวน 5,222.30 ล้านบาท ธพส. ปรับเพิ่มสัญญาเงินกู้ ธ. กรุงไทย จำนวน 2,400 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดวงเงินกู้โครงการจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ปีการผลิต 2551/2552/2555/2556 2556/2557) จากที่ได้ชำระคืนก่อนครบกำหนด วงเงิน 19,338.36 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับปรุงแผนฯ เป็นการปรับเพิ่มวงเงินปรับโครสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2566-2569 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยออกพันธบัตร รัฐบาลจำนวน 60,000 ล้านบาท รวมทั้งการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนา และเพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

“ท่านนายกฯ เน้นย้ำเรื่องความเหมาะสมและความสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเงินกู้ อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ครม. ได้ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงินวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น โดย หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ” นายธนกร กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo