Business

5 เทรนด์ธุรกิจพุ่งแรงปีเสือ รับอานิสงส์โควิด ชีวิตวิถีใหม่ สังคมสูงวัย

ผ่านพ้นปี 2564 เข้าสู่ปี 2565 หลายธุรกิจยังต้องทนทุกข์จากผลกระทบโควิด แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจ ที่ยังคงได้รับอานิสงส์โควิดระบาด

TheBangkokInsight รวบรวมธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป เข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ การทำงานขององค์กรธุรกิจที่ต้องปรับตัว โดยรวม 5 ธุรกิจที่ยังคงเป็นดาวรุ่งในปี 2565 ไว้ ดังนี้

อานิสงส์โควิด

5 ธุรกิจรับอานิสงส์โควิด

อีคอมเมิร์ซ โตไม่หยุดฉุดไม่อยู่

การล็อกดาวน์ มาตรการที่เข้มงวด การแพร่ระบาดที่ทำให้ผู้คนต้องระมัดระวังตัวเอง และการเติบโตของเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กลายเป็นดาวเด่นที่ยังคงเติบโต และได้รับความนิยมจากคนไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถสั่งสินค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ประเมินว่า ในปี 2564 คาดการณ์ มูลค่าอีคอมเมิร์ซจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าแตะ 4.01 ล้านล้านบาท

โควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ดันให้อีคอมเมิร์ซเติบโตก้าวกระโดด ยอดซื้อสินค้าและบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก จำนวนผู้ประกอบการในออนไลน์เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ กิจกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัลเกิดมากมาย เช่น การดูคอนเทนท์ออนไลน์ อี-มีทติ้ง ส่งผลกระทบในเชิงบวกกับมูลค่าอีคอมเมิร์ซ รวมไปถึงเทศกาลดับเบิลเดย์ เช่น 9.9 11.11 12.12 ที่เป็นตัวดันยอดซื้อขายผ่านออนไลน์พุ่งกระฉูด

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซไทย กล่าวว่า พฤติกรรมนักช้อปคนไทยทุกวันนี้ไม่ว่าจะซื้อจากช่องทางไหน ออนไลน์ก็มีอิทธิภาพต่อกระบวนการตัดสินใจ อีคอมเมิร์ซกลายเป็นทางรอดของหลาย ๆ ธุรกิจ

นอกจากนี้ยังเชื่อว่าตลาดนี้จะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องแม้โควิดจะหมดไปแล้วก็ตาม โดยปี 2564 หากมองโดยภาพรวมคาดว่า อีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตมากถึง 75%

ขณะที่นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ว่าจะสร้างรายได้ภายในประเทศสูงถึงระดับแสนล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยเสริมด้านต่างๆ ทั้งการผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐ การปรับตัวของธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและหันมาซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น

ฟู้ดเดลิเวอรี เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน

ฟู้ดเดลิเวอรี เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่พุ่งแรงไม่แพ้อีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นผลมาจาก มาตรการล็อกดาวน์ ตลอดจนการทำงานที่บ้าน และแพลตฟอร์มฟู้ด ดิลิเวอรี่

ขณะเดียวกันยังช่วยอำนวยความสะดวก และมีร้านอาหารให้เลือกหลากหลายมากขึ้น เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ทั้งปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์ จำนวนร้านอาหาร และไรเดอร์ที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มในปีนี้ เติบโตแบบก้าวกระโดดทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลให้รายได้ของแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี่ ในระดับโลกและไทยต่างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่า มูลค่าตลาดฟู้ดเดลิเวอรีของไทยปี 2564 จะเติบโต 62% จนมีมูลค่า 1.05 แสนล้านบาท อีกทั้งการแข่งขันในธุรกิจจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า เมื่อทุกแพลตฟอร์มเร่งผันไปตัวเองไปสู่การเป็น ซูเปอร์แอพ ครบวงจร ที่อาจมีบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากแค่การสั่งอาหาร

โลจิสติกส์ เชื่อมสินค้าถึงมือผู้บริโภค

นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้อีคอมเมิร์ซ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างขนส่งพัสดุได้รับอานิสงส์ จากการเป็นตัวเชื่อมระหว่างร้านค้าและผู้บริโภคในการส่งสินค้าที่สั่งซื้อจากออนไบน์ให้ถึงมือ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่คนอยู่กับบ้านมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ ธุรกิจขนส่งสินค้าในปี 2021 เติบโต 19% อยู่ที่ประมาณ 71,800 ล้านบาท โดยมีผู้เล่นเจ้าเดิมที่มีอยู่ในตลาดอย่าง ไปรษณีย์ไทย เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส แฟลช เอ็กซ์เพรส ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งด้านราคาและความรวดเร็ว ในการขนส่ง

นอกจากนี้ก็มีเจ้าใหม่ที่กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย ได้แก่ Xpresso ในเครือ บมจ.ทีวี ไดเร็ค (TVD) จึงยังเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของธุรกิจขนส่งพัสดุ แต่ต้องดูต่อไปว่าแบรนด์ไหนจะมัดใจผู้บริโภคได้อยู่หมัด และเป็นผู้ชนะในสมรภูมินี้

ไอทีรับอานิสงส์โควิด ทำงานที่บ้าน องค์กรแข่งลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ

ทิศทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เติบโตจากการที่หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนี้เพิ่มขึ้น เพื่อเผชิญความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อวิถีการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นจุดเชื่อมต่อในการทำงานส่งผลทำให้การลงทุนด้านไอซีทีเพิ่มขึ้น

ในช่วงปี 2564-2566 รายได้ของธุรกิจบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ในภาพรวม มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 10.5% ต่อปี ตามทิศทางของภาคธุรกิจที่เน้นการใช้กลยุทธ์ Digital transformation เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคแบบเฉพาะเจาะจง รวมทั้งวิถีการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ ที่คาดว่าจะต้องพึ่งพาการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทจีเอเบิลเปิดมุมมองว่า วิกฤติโควิด 19 ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทุกอุตสาหกรรม ทว่าไอทีโชคดีกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะเดียวกันยังมีเทรนด์การเติบโตในบางเซ็กเตอร์ และจะเติบโตได้มากขึ้นหากสถานการณ์ธุรกิจของลูกค้าปรับตัวดีขึ้น

ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่ผลักดันให้สถานการณ์การลงทุนไอทีในประเทศไทยยังคงเติบโตมาจากการลงทุนของภาครัฐ และธุรกิจการเงินการธนาคาร ซึ่งต่างมองหาวิธีการที่จะปูทางการเติบโตในอนาคต คาดว่าภาพรวมตลาดไอทีไทยจะกลับมาเติบโตได้แบบหวือหวามากขึ้นช่วงปี 2566 เป็นต้นไป

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ธุรกิจไอทีจะมีข้อได้เปรียบจากกระแส Work from Home และการเรียนออนไลน์ ทำให้ความต้องการในตลาดขยายตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19

โควิด-สังคมสูงวัย หนุนธุรกิจสุขภาพ

​การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เทรนด์การดูแลสุขภาพได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ เห็นได้จากการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน หรือ การรักษา กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นประจำปี 2564

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จำนวนธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัย และ การแพทย์เหล่านี้ ที่เป็นธุรกิจจัดตั้งใหม่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น

  • ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 68 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 114 ราย ในปี 2563
  • ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 945 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 1,158 ราย ในปี 2563

อย่างไรก็ตาม การเติบโตย่อมมาพร้อมการแข่งขัน ดังนั้น การจะอยู่รอดได้อย่างแข็งแรง จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อสร้างแต้มต่อ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า สร้างความเชื่อมั่นในกับผู้บริโภค ทำการตลาดอย่างซื่อสัตย์ และให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo