Business

จับตา ธุรกิจรอวันฟื้น หลังฟุบจากโควิด-19 หวั่นโอไมครอนกระหน่ำซ้ำอีกรอบ

โควิด-19 พ่นพิษไม่หยุด กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวกระอักหนัก 2 ปีซ้อน ชี้เปิดประเทศปลายปีไม่ช่วย หวั่นโอไมครอนระบาดซ้ำ โรงแรม ทัวร์ ร้านอาหาร สายการบิน ค้าปลีก อ่วมถ้วนหน้า ฝากความหวังโควิดคลี่คลาย ฉีดวัคซีนครอบคลุม

สถานการณ์แพร่ระบาดต่อเนื่องของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างสายการบิน โรงแรม ทัวร์ ค้าปลีก ร้านอาหาร ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โควิด-19

 

หลังจากประเทศไทย เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การเปิดรับนักท่องเที่ยว กลายเป็นความหวังของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่คาดหมายว่า ธุรกิจจะกลับมาฟื้นคืนอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัจจัยเสี่ยงใหม่ ไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนระบาดในช่วงปลายปี 2564 กลับกลายเป็นปัจจัยลบที่หวั่นว่าจะกลับมาทุบธุรกิจที่คาดหวังว่าจะฟื้นตัวในปี 2565 อีกรอบ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ดังนี้

จับตาธุรกิจรอวันฟื้นตัวจากโควิด-19

สายการบินเจ็บหนักหวังฟื้นจากเปิดประเทศ

ธุรกิจสายการบิน ที่ตกอยู่ในภาวะโคม่ามาร่วมสองปี ต่างคาดหวังว่า การเปิดประเทศ จะเป็นเวลาปลุกธุรกิจให้กลับมาฟื้นคืนได้อีกครั้ง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT มองว่า การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ คงไม่ได้เข้ามาในประเทศไทยหวือหวาเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้รุนแรงมาก จากเดิมต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ 4 แสนคนต่อวัน เวลานี้หากเข้ามาสัก 2-3 หมื่นต่อวันก็ถือว่ายอมรับได้

นอกจากนี้ ยังมองว่า ภาคการบินต้องใช้เวลาฟื้นตัวมากกว่า 2 ปี และถือว่าอุตสาหกรรมการบินยังมีความเสี่ยงที่จะล้มหายตายจาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังต้องจับตาผลกระทบอีกรอบ ในช่วงหลังปีใหม่นี้

ขณะเดียวกัน ทอท. ยังประเมินปริมาณการจราจรทางอากาศ ระหว่างปีงบประมาณ 2565-2567 ว่า ปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม2564-กันยายน2565) จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 483,695 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารรวม 62.13 ล้านคน

ส่วนปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 768,658 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 116.13 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 925,197 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 143.05 ล้านคน

โควิด-19

 

ด้านปริมาณผู้โดยสารปีงบประมาณ 2565 เดือนตุลาคม 2564 ลดลงจากฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 11.04 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ จำนวน 26.28 ล้านคน ลดลง 3.06 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ จำนวน 35.85 ล้านคน ลดลง 7.98 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือธุรกิจสายการบิน อาทิ การยกเว้นเงินค่าปรับให้กับสายการบินที่นำส่งค่าธรรมเนียมการเข้าหรือออกประเทศล่าช้า การปรับลดค่าบริการสนามบิน หรือค่าแลนด์ดิ้งลง 50% ยกเว้นค่าบริการที่เก็บอากาศยานให้สายการบินที่หยุดบินชั่วคราวในไตรมาส 4 พร้อมกับเลื่อนชำระค่าบริการสนามบินและเครื่องอำนวยความสะดวกออกไปงวดละ 9 เดือน และผ่อนชำระได้ไม่เกิน 12 งวด

พร้อมกันนี้ ยังให้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ขยายเวลาปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับทุกกิจกรรมในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์ กำหนด เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565

ธุรกิจโรงแรมหันซบไทยเที่ยวไทย

โรงแรม เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ซึ่งถือเป็นวิกฤติหนักสุด เห็นได้จากการปิดกิจการเป็นจำนวนมาก และส่งผลให้พนักงานโรงแรมต้องออกจากระบบไปแล้วถึง 50%

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มโรงแรมขนาดกลางและใหญ่ โรงแรมอิสระ ธุรกิจของครอบครัว (ไม่รวมกลุ่มทุนสายป่านยาว) และอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยว ในสถานการณ์โควิดถือว่าลำบากมากที่สุด รวมทั้งโรงแรมในกรุงเทพฯ 50% ต้องปิดชั่วคราว

ขณะที่โรงแรมเล็ก ปรับตัวลดต้นทุนได้เร็วกว่า ถือเป็นบทเรียนการลงทุนโรงแรมในอนาคตว่า ไม่ควรสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ 400-500 ห้อง

ทางเลือกของโรงแรมเพื่ออยู่รอดในช่วงโควิด คือ ปรับตัวเป็น ASQ ALQ Hospitel โดยพบว่าในกรุงเทพฯ มีโรงแรมที่ปรับเป็นฮอสพิเทลเกือบ 100 แห่ง จำนวนรวมกว่า 20,000 เตียง

โรงแรม

ในภาวะที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา สิ่งที่ต้องทำคือ การ Retarget เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย จากนักท่องเที่ยวหลักมาเป็นกลุ่มใหม่ที่มีโอกาส เช่น เมื่อตลาดจีนยังไม่มา ก็เปลี่ยนเป็น Long Stay จากยุโรป หรือปรับตัวรับลูกค้าคนไทย ที่นิยมทำงานไปพร้อมกับพักผ่อน (Workation) มากขึ้น

ที่สำคัญคือ การปรับตัวของธุรกิจโรงแรม เช่น จากเดิมที่พึ่งพาลูกค้าจาก OTA เป็นหลัก ต้องกลับมาพึ่งตัวเองมากขึ้น ทำการตลาดตรงกับลูกค้า ปรับทักษะพนักงานให้ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น การลดต้นทุน สร้างจุดขายอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายห้องพัก เพื่อกระจายความเสี่ยง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังต้องจับเทรนด์การท่องเที่ยวหลังโควิด เพื่อปรับตัวรับความต้องการของลูกค้า เช่น การปรับรับนักท่องเที่ยวชาวไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่จะฟื้นตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติ การจับตลาด work from hotel การทำตลาดเชื่อมกลุ่มอาเซียน การสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ฯลฯ

แม้วันนี้ธุรกิจโรงแรมต้องเจอกับวิกฤติหนักสุด แต่เมื่อโควิดจบลง ท่องเที่ยวไทยก็ยังสดใส ดังนั้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ทุกคนต้องปรับตัวให้อยู่รอด เพื่อรอโอกาสฟื้นธุรกิจอีกครั้ง

ทัวร์อ่วม ปิดกิจการกว่า 2 หมื่นแห่ง ลุ้นท่องเที่ยวฟื้น

นับจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอด 3 รอบที่ผ่านมา ธุรกิจทัวร์นำเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งพฤติกรรมของคนไทย ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวผ่านทัวร์ลดลง และหันไปเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น

เริ่มต้นปี 2564 มาจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจทัวร์นำเที่ยวรายได้หายไปกว่า 95% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อเดือน จากผู้ประกอบการทัวร์ในตลาดราว 50,000 ราย ปิดกิจการไปแล้ว 20,000 ราย อีก 20,000 รายยังมีสายป่านรออุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่วนที่เหลือ 10,000 ราย อยู่ก้ำกึ่งระหว่างการปิดชั่วคราวและปิดถาวร

เมื่อธุรกิจทัวร์นำเที่ยวปิดตัวลงจำนวนมาก ส่งผลให้แรงงานในธุรกิจทัวร์นำเที่ยว ถูกเลิกจ้างไปจำนวนมากเช่นกัน จากทั้งระบบมีประมาณ 1 แสนคน ขณะนี้คาดว่าเหลือไม่ถึง 20%

โควิด-19

นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไป (สปข.)และรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ธุรกิจทัวร์ต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการทัวร์นำเที่ยว เพื่อให้สามารถประคองธุรกิจรอวันภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวอีกครั้ง

ที่ผ่านมาได้เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องการพักต่อทะเบียนรถ พักการตรวจสภาพรถ รวมถึงการขอวงเงินในการซ่อมแซมบำรุงรักษารถขนส่งที่มีอยู่ ซึ่งทุกอย่างเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายหมด แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจากภาครัฐ

อยากเรียกร้องให้รัฐบาล หันมามองธุรกิจนี้บ้าง เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ระบบขนส่งจะมีปัญหาแน่นอน เพราะผู้ประกอบการไม่เหลือรอดรอให้บริการในวันที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นายทุนต่างชาติเข้ามาฮุบธุรกิจ และควบรวมธุรกิจในหลายบริการ เกิดเป็นผู้เล่นรายใหญ่กินส่วนแบ่งในตลาดที่ผู้เล่นเดิมไม่สามารถแข่งขันด้วยได้

ค้าปลีกหวังฉีดวัคซีน มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วยฟื้นธุรกิจ

ค้าปลีก เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด โดย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งให้มูลค่าค้าปลีกและบริการสูญหายกว่า 8 แสนล้านบาท มีคนว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน(ผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) และแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านคน

ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งเครื่อง เพื่อผลักดันให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ด้วยการวางกลยุทธ์และแผนรองรับในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยแนวทางของการฟื้นฟู ควรเริ่มจากการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนไปจนถึงการวางรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน

shutterstock 1347920417

สำหรับแนวทางที่จะช่วยฟื้นธุรกิจค้าปลีก นอกจากการฉีดวัคซีนเพื่อลดการแพร่ระบาดแล้ว สิ่งสำคัญคือ การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว ตรงเป้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาทิ การส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวไทย ใช้ของไทย การเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง และยิ่งใช้ยิ่งได้ รวมถึงโครงการช้อปดีมีคืน

ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกมองว่า การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านมาตรการของภาครัฐ จะทำให้สามารถสร้างเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จากนี้ไปจนถึงเดือน มิถุนายน 2565 ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หรือราว 10% ของ จีดีพี

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า  การเข้าถึงวัคซีนที่เริ่มมีสัญญาณบวก ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการอัดแคมเปญของผู้ประกอบการค้าปลีก จะส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวที่ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัว 1.2%

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2565​ ทิศทางการฟื้นตัวของยอดขายธุรกิจค้าปลีกจะกลับมาแข็งแกร่งได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญคงจะขึ้นอยู่กับการจัดการสถานการณ์โควิด และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ส่วนความเปราะบางด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ท่ามกลางค่าครองชีพที่เร่งตัว การแพร่ระบาดของโอไมครอน รวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น จะยังเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกต่อเนื่อง​

ล็อกดาวน์ ซัดร้านอาหารวูบ เชื่อคลายล็อกช่วยฟื้น

มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลอย่างชัดเจนต่อธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะการห้ามนั่งทางที่ร้าน และเกี่ยวโยงไปถึงสถานบันเทิง ที่ต้องปิดให้บริการ เมื่อกลายเป็นหนึ่งในคลัสเตอร์โควิด

ทั้งนี้เห็ยได้จาก ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร ในปี 2564 ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม มีจำนวน 1,162 ราย ขณะที่จำนวนจดทะเบียนเลิกกิจการมี 226 ราย

shutterstock 257040244

ขณะที่ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ธุรกิจร้านอาหารให้บริการเต็มรูปแบบ หรือ Full-Service Restaurants ได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มขึ้น จากการที่ทางการได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง ได้แก่ การยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการอนุญาตให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถกลับมาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการนั่งทานในร้านได้แบบมีเงื่อนไข

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปี 2564 น่าจะมีการขยายตัวของจำนวนต่อครั้ง (โต๊ะ) เพิ่มขึ้นถึง 7% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปี

ประกอบกับระยะเวลาในการใช้บริการต่อครั้งที่นานขึ้น ทำให้อาจจะมีการสั่งอาหารรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีมูลค่าทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1.13 แสนล้านบาท หดตัว 28.5% จากปี 2563

ความหวังของธุรกิจร้านอาหาร จึงอยู่ที่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น หรือไม่มีการกลับมาระบาดจนทำให้ทางการต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง น่าจะช่วยให้ธุรกิจร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo