Business

‘ศักดิ์สยาม’ คาดเปิดบริการตั๋วร่วม EMV ได้ มี.ค. 65

“ศักดิ์สยาม” ตามการบ้าน คาด”ตั๋วร่วม” EMV เปิดให้บริการได้ภายในเดือนมี.คง 65  ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง-น้ำเงิน-แดง” พร้อมรถเมล์-เรือ-ทางด่วน แบบเบ็ดเสร็จ สั่ง กรมทางหลวง เพิ่มช่องทางลงทะเบียน M-Flow  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ว่าที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินตามแผนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้รายงานความคืบหน้าการนำบัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) มาใช้ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟชานเมือง สายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย  คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปได้ภายในเดือนมีนาคม 2565  สามารถรองรับการใช้งานในรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด และระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย

ตั๋วร่วมม 1

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้รับทราบ การพัฒนาและเปิดให้บริการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ ระบบ M-Flow ของกรมทางหลวง (ทล.) และ กทพ. โดย ทล. ได้ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบเสมือนจริง  ได้เปิดให้ผู้ใช้ทางลงทะเบียนสมัครสมาชิกระบบ M-Flow แล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 โดยมีผู้ลงทะเบียนระบบ M-Flow สำเร็จ จำนวน 20,363 คน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 25,244 คน รวมทั้งได้ให้สิทธิพิเศษ สำหรับผู้ลงทะเบียนสมัครใช้งานระบบ M-Flow จำนวน 100,000 สิทธิ์แรก สามารถวิ่งผ่านทางฟรี 2 เที่ยว ขณะนี้ยังมีสิทธ์คงเหลือจำนวน 79,637 สิทธิ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 64)

saksiam e1637581975534
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

สำหรับลูกค้า M-Pass ที่ลงทะเบียนใช้บริการผ่านระบบ M-Flow และเลือกชำระเงินด้วยบัญชี M-Pass ผ่านช่องทางที่กำหนดจะได้รับโบนัสค่าผ่านทางจำนวน 100 บาท  คณะกรรมการบริหารเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ทล. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการนำเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บได้มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมให้สิ่งจูงใจในการใช้ระบบ M-Flow โดยการให้ส่วนลด 20% สำหรับผู้ใช้ระบบ M-Flow แล้ว

ในส่วนของ กทพ. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบ M-Flow ระยะที่ 1 บนทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านนำร่อง 3 ด่าน (จตุโชติ สุขาภิบาล 5-1 และสุขาภิบาล 5-2 โดยได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จบางส่วน และเริ่มดำเนินการติดตั้งโครงป้ายคร่อมช่องจราจร (Gantry) ที่ด่านนำร่องแล้ว สำหรับงานจัดจ้างบริหารจัดการระบบฯ คาดว่าจะดำเนินการจัดจ้างได้ภายในเดือนมกราคม 2565 และดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำและทบทวนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ….ของคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ….  มีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวงเป็นประธานกรรมการ และมีมติให้ยกเลิกคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 288/2559 สั่ง ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2559  แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. และคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 362/2559 สั่ง ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2559  แต่งตั้งกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. เพิ่มเติม และให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ภายใต้ คนต. ขึ้นใหม่ โดยมีหน้าที่และอำนาจคงเดิม ทั้งนี้ ให้เพิ่มเติมผู้แทนจากกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และกรมบัญชีกลางในองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการฯ ด้วย

ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการ มีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะ เพื่อการดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม ของคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ ดังนี้

ตั๋วร่วม

ด้านเทคนิค 1. ให้ รฟม. ดำเนินการจัดทำระบบตั๋วร่วมในรูปแบบการผูกกับบัญชีที่ระบุตัวตนผู้โดยสาร หรือ Account Based Ticketing (ABT) กลาง ตามแนวทางการพัฒนาของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในช่วงแรก และทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระบบ หลังจากนั้นให้โอนถ่ายระบบไปยังหน่วยงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ….
2. พัฒนามาตรฐานบัตร และหัวอ่าน (Reader) ในรูปแบบ ABT 3. ประเมินต้นทุนในการปรับปรุงระบบของผู้ให้บริการ (Operator) ต่าง ๆ

ด้านอัตราค่าโดยสารและนโยบาย 1. เส้นทางที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่กำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม (รฟม./รฟท.) ให้ดำเนินการเจรจาการปรับใช้โครงสร้างอัตราตั๋วร่วม 2. สำหรับเส้นทางที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานให้พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขสัญญา หรือการประมูลให้สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราใหม่

3. สำหรับเส้นทางที่อยู่ระหว่างการวางแผนและการศึกษา ให้ดำเนินการปรับปรุงและพิจารณา การวิเคราะห์และวางแผนโครงการในอนาคต โดยคำนึงถึงโครงสร้างอัตราตั๋วร่วม

4. พิจารณาแนวทางในการจัดสรรรายได้ค่าโดยสาร และการเก็บค่าบริหารระบบกลางในสัญญาต่าง ๆ

5. ติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ให้เป็นไปตามกรอบข้อเสนอแนะ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมแบบสมบูรณ์ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่สามารถบังคับใช้มาตรฐานระบบตั๋วร่วมกลาง โครงสร้างอัตราตั๋วร่วมทุกรูปแบบการเดินทางและการจัดสรรรายได้ การบังคับใช้ และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบที่สมบูรณ์ ทั้งในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ให้มีการจัดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วม ในรูปแบบ ABT เพื่อจัดการระบบบัตรโดยสารและบัญชีผู้ใช้งาน โดยระบบสามารถเปิดรองรับผู้ออกบัตรหลายรายทั้งปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบ และการจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในรูปแบบที่สมบูรณ์ ทั้งทางด้านเทคนิค การกำกับดูแล และการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม พร้อมทั้งได้นำเสนอ คนต. พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานด้านเทคนิค จำนวน 3 คณะ และคณะทำงานด้านนโยบาย จำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ

ทั้งนี้ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ ทล. พิจารณาการเพิ่มช่องทางลงทะเบียนระบบ M-Flow และพิจารณาการกำหนดแนวทาง วิธีการ ขั้นตอน และแบบฟอร์ม ให้มีความกระชับและสะดวกต่อการลงทะเบียนของผู้ใช้บริการมากขึ้น

2. ให้ สนข. ร่วมกับ ทล. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้บริการระบบ M-Flow เพื่อให้เข้ามาลงทะเบียนระบบ M-Flow มากยิ่งขึ้น

3. ให้ กทพ. ถอดบทเรียนการดำเนินงานของ ทล. เพื่อปรับปรุงแนวทางการลงทะเบียนระบบ M-Flow และการให้บริการให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้บริการมากขึ้น

ตั๋วร่วมม e1640265070918

4. ให้ บมจ.ธนาคารกรุงไทยพิจารณาความเหมาะสมในการนำระบบ EMV มาใช้กับทางพิเศษว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด พร้อมกันนี้ ให้ กทพ. พิจารณาแผนการดำเนินงานการติดตั้งระบบ EMV และระบบ M-Flow ให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อมิให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับการเก็บค่าผ่านทางพิเศษไปสู่ระบบ M-Flow ทั้งหมด

5. ให้ สนข. ทบทวนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ที่ได้มีการศึกษาไว้แล้วว่าสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ ก่อนนำเสนอ คนต. ในการประชุมครั้งต่อไป

6. ให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำ Action Plan เกี่ยวกับ Key Success Factors ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วม เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานให้เกิดเป็นรูปธรรม

7. การจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ให้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการดำเนินงาน

8. ให้ สนข. ร่วมกับคณะอนุกรรมการฯ ศึกษามาตรฐานหลักเกณฑ์โครงการระบบขนส่งทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MRT Assessment Standardisation) ให้มีความเหมาะสมและเป็นปัจจุบัน

9 . ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

10. ให้ สนข. และคณะอนุกรรมการฯ ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนเป็นระยะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight