Business

ถูกลืม!! แรงงานข้ามชาติ แห่ร้องศาลรัฐธรรมนูญ ชวดเยียวยา ‘ม.33 เรารักกัน’

แรงงานข้ามชาติ ยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยกรณีโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ม.33 เรารักกัน” ลั่นกีดกัน เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม 

วันนี้ (9 ธันวาคม 2564) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) และตัวแทนแรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีไม่ได้รับการเยียวยาโครงการ มาตรา 33 เรารักกัน ของผู้ประตนที่ไม่มีสัญชาติไทย

ม.33 เรารักกัน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ตรวจสอบ และมีข้อเสนอต่อ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ร้องเรียนและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ไม่มีสัญชาติไทย เข้าถึงสิทธิในการได้รับเงินชดเชยเยียวยาตามโครงการ มาตรา.33 เรารักกัน และโครงการอื่นของรัฐในอนาคต เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม

แรงงาน

นอกจากนี้ ยังร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เสนอเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการกำหนดเงื่อนไขของโครงการเป็นการกระทำที่เป็นการจำแนก กีดกัน และเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่

ต่อมา ในวันที่ 15 กันยายน 2564 ตัวแทนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การกำหนดเงื่อนไขการเยียวยาในโครงการ ม.33 เรารักกัน ให้เฉพาะแก่ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติไทย ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2560 มาตรา 4 และมาตรา 27

แรงงาน2

พร้อมกันนี้ ได้ให้เหตุผลว่า เพราะบทบัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติเท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงสัญชาติ

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนแรงงานข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทย ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า การที่ โครงการ มาตรา33 เรารักกัน ให้สิทธิเฉพาะผู้ประกันกันตนที่มีสัญชาติเท่านั้น เป็นการขัดต่อมาตรา 4 และมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo