Business

นายกฯ สั่งรมว.แรงงาน จัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ ทะลักเข้าไทย หลังเปิดประเทศ

“นายก” สั่ง “รมว.เฮ้ง” แก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลัก จัดประชุมชงแนวทางนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MoU เสนอ ศบค. ศุกร์นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมพิจารณาแนวทาง การนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามเอ็มโอยู (MoU) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) โดยนายกรัฐมนตรี กำชับให้ กระทรวงแรงงาน เตรียมความพร้อมการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MoU เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทะลัก หลังการเปิดประเทศ

ปัญหาแรงงานข้ามชาติ

ทั้งนี้ ผลการสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว พบความต้องการถึง 4 แสนกว่าอัตรา ซึ่งผลการประชุมวันนี้ มีการหารือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และรับฟังความเห็นจาก รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อทบทวนและ หาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น

ภายหลังหารือ ทุกหน่วยงานเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการฯตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และเตรียมเสนอต่อศบค. ในวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2564 คาดว่าจากนี้ 30 วันจะสามารถนำเข้าแรงงานตาม MoU ได้ทันที

สำหรับประเทศไทยขณะนี้ มีความพร้อมเรื่องวัคซีนแล้ว ในส่วนของแรงงานข้ามชาติ ได้เตรียมไว้ 4 – 5 แสนโดส เพื่อฉีดในวันสุดท้ายของการกักตัว โดยแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีนยังไม่ครบจะต้องกักตัว 14 วัน

นอกจากนี้ ระหว่างกักตัว จะมีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยวิธี RT – PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้าง/สถานประกอบการ รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยค่าสถานที่กักกัน ค่าตรวจหาเชื้อ COVID-19 ค่ารักษา (กรณีคนต่างด้าวติดเชื้อ COVID-19) โดยมีค่าใช้จ่ายในการนำเข้ารวม 9,700 – 26,720 บาท

สุชาติ
สุชาติ ชมกลิ่น

7 แนวทางนำเข้าแรงงานตาม MoU ป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติ

สำหรับแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้

1. นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศยื่นแบบคำร้อง ณ กรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน

ทั้งนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการกักตัวคน ต่างด้าว ได้แก่

  • ค่าสถานที่กักตัว
  • ค่าตรวจโรคโควิด – 19
  • ค่าบริการทางการแพทย์
  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อโรคโควิด-19 หรือจัดให้มีกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาลซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19
  • ค่าใช้จ่ายอื่นที่อาจเกิดขึ้นขณะกักตัว รวมถึงกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือโรคอื่นระหว่างกักตัว

2. ฝั่งประเทศต้นทางรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา จัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าวส่งให้นายจ้างไทย

3. นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตฯ ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) ที่ผ่านการรับรองจากประเทศต้นทางของคนต่างด้าวแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน จัดให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการที่ต้องเข้าประกันสังคมเข้าระบบประกันสังคม กรมการจัดหางานตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนของเอกสารหลักฐานต่าง ๆ

LINE ALBUM ตกงาน ปิด เปิดร้าน ๒๑๑๑๑๐

4. กรมการจัดหางานจัดทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง กัมพูชา ลาว) /สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อพิจารณาตรวจลงตราวีซ่า (Non – Immigrant L-A) แจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้

5. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงเอกสาร หลักฐานที่ได้รับจากนายจ้าง และแสดงใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 ตรวจโดยวิธี RT-PCR มีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางเข้ามา และใบรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19

สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตราอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการทำงาน (Non – Immigrant L-A) เป็นระยะเวลา 2 ปี จากนั้นจึงเดินทางไปยังสถานที่กักตัว โดยยานพาหนะที่แจ้งไว้เท่านั้น โดยต้องเดินทางตามเส้นทางที่กำหนด ห้ามแวะสถานที่ใด ๆ ก่อนถึงสถานที่กักตัว และยานพาหนะต้องสามารถบันทึกภาพได้ตลอดระยะเวลาเดินทาง

6. คนต่างด้าวต้องเข้ารับการกักตัว และมีการตรวจหาเชื้อโรคโควิด – 19 โดยวิธี RT – PCR ดังนี้

  • กรณีคนต่างด้าวฉีดวัคซีนมาจากประเทศต้นทางครบแล้ว กักตัวอย่างน้อย 7 วัน ตรวจโรคโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง
  • กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือได้รับการฉีดวัคซีนแต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ กักตัวอย่างน้อย 14 วัน ตรวจโรคโควิด – 19 จำนวน 2 ครั้ง

กระทรวงแรงงานสนับสนุนวัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้แรงงานต่างด้าวในวันสุดท้ายของการกักตัว ทั้งนี้ กรณีตรวจพบเชื้อโควิด – 19 ให้เข้ารับการรักษา

7. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว รับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ภายใน 15 วัน นับจากวันที่รับการอบรม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo