Business

ผักแพง-น้ำมันขึ้นแรง สินค้าขึ้นราคา 226 รายการ ดันเงินเฟ้อเดือนตุลาคม เพิ่ม 2 เดือนติด

เงินเฟ้อเดือนตุลาคม พุ่งต่อเดือนที่ 2 หลังน้ำมันขึ้นแรง ผักสดราคาขยับ สนค.เผย สินค้าปรับราคาแล้ว 226 รายการ จับตาหลังรัฐบาลเริ่มดูแลราคาน้ำมัน

นายรณรงค์ พูนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อ เดือนตุลาคม 2564 เท่ากับ 101.96 เทียบกับเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้น 0.74% และเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 เพิ่มขึ้น 2.38% อีกทั้งเป็นการกลับมาขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

เงินเฟ้อเดือนตุลาคม

ด้านเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนของปี 2564 (มกราคม-ตุลาคม) เพิ่มขึ้น 0.99% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 100.59 ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2564 และเพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2563 ขณะที่เฉลี่ย 10 เดือน เพิ่มขึ้น 0.23%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีปัจจัยหลักมาจาก การเพิ่มสูงขึ้นราคาราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น 37.09% ตามราคาตลาดโลก และสินค้ากลุ่มอาหารสดบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น ผักสด ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เพิ่ม 7.08%

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากราคาไข่ไก่ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งกลุ่มอาหารบริโภคในบ้าน นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุน และค่าบริการแต่งผมชาย เป็นต้น

รณรงค์ พูนพิพัฒน์

ส่วนกลุ่มที่ฉุดเงินเฟ้อ มาจากการลดลงของสินค้ากลุ่มอาหารสดอื่น ๆ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้สด และค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ลดลงจากมาตรการภาครัฐ

ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับความต้องการ และปริมาณผลผลิต

นายรณรงค์ กล่าวว่า ในเดือนตุลาคม 2564 มีสินค้าที่ปรับขึ้นราคา 226 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช ผักกาดขาว ผักคะน้า แตงกวา ผักบุ้ง ไข่ไก่ ไก่ย่าง อาหารกลางวัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พบว่า มีสินค้าลดลง 133 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร เงาะ มะม่วง หัวหอมแดง มะนาว ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียมอุดมศึกษาภาครัฐบาล เป็นต้น และสินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 71 รายการ

ผักสด 696x522 1

แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ จะยังคงเป็นขาขึ้น คงไม่สูงเท่าเดือนต.ค.2564 แต่ยังคงสูงอยู่ โดยมีปัจจัยจากราคาน้ำมัน ที่แม้จะมีทิศทางเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการขนส่ง แต่รัฐบาลได้เข้ามาดูแล ทำให้ราคาไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมากไปกว่านี้

พร้อมกันนี้ ยังมีปัจจัยกระตุ้นการบริโภคจากการเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจดำเนินการได้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น แต่ผักสด ที่ราคาเคยสูง แนวโน้มราคาน่าจะปรับตัวลดลง เพราะผลผลิตจะเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

สนค.ประเมินว่า เงินเฟ้อทั้งปี 2564 จะอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ที่เฉลี่ยระหว่าง 0.8–1.2% ค่ากลางอยู่ที่ 1% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะมีการทบทวนอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo