Business

สปสช. เปิดรายละเอียดเหมาจ่าย 1,000 บาท ดูแลผู้ป่วยโควิด ค่าอะไรบ้าง ลั่นไม่จ่ายซ้่ำซ้อน

สปสช. แจงหลักการจ่ายชดเชยค่าบริการดูแลผู้ป่วยโควิด สิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน (HI-CI) เหมาจ่ายผ่านหน่วยบริการ รายละ 1,000 บาทต่อวัน ลั่นไม่มีการจ่ายซ้ำซ้อน ไม่จ่ายตรงผู้ป่วยโควิด

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า การจ่ายค่าชดเชยให้กับบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ใช้สิทธิ สปสช.หรือสิทธิบัตรทอง ในระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation: HI) และในชุมชน (Community Isolation: CI) ซึ่ง สปสช. จะเหมาจ่ายให้กับหน่วยบริการที่ให้การดูแลในอัตราวันละ 1,000 บาท รวมระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน

ดูแลผู้ป่วยโควิด

สำหรับเงินจำนวน 1,000 บาทดังกล่าว จะเป็นการเหมาจ่ายที่รวมค่าบริการดูแล ติดตาม สอบถามอาการผู้ป่วย และค่าอาหาร 3 มื้อของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามหากกรณีที่หน่วยบริการดังกล่าวไม่สามารถจัดหาอาหารให้ได้ ทาง สปสช.ก็จะจ่ายชดเชยให้เฉพาะในส่วนของค่าบริการดูแลผู้ป่วย เป็นจำนวน 600 บาทแทน

ทั้งนี้ ตามหลักการ จะเน้นให้หน่วยบริการเป็นผู้จัดอาหารให้กับคนไข้ แต่หากทำไม่ได้ ถ้าใน กทม. จะให้ผู้ป่วยสั่งอาหารผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ที่มีการประสานไว้แทน แต่หากเป็นในต่างจังหวัด สถานพยาบาลอาจใช้วิธีประสานกับร้านอาหารภายนอก หรือประสานกับชุมชนเพื่อให้ดูแลจัดอาหารส่งให้กับคนไข้ โดยใช้เงิน 400 บาทที่เหลือไปจ่ายให้แทน

ดูแลผู้ป่วยโควิด

 

ในส่วนของการเบิกจ่าย สปสช. จะจ่ายให้กับหน่วยบริการตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่กำหนด โดยมีรอบการจ่ายในทุกสัปดาห์ หลังจากที่หน่วยบริการขอ Authen หรือยืนยันการให้บริการแก่ผู้ป่วย แต่จะไม่มีการจ่ายตรงไปที่ร้านอาหารที่ให้บริการ โดยจะให้หน่วยบริการเป็นผู้บริหารจัดการเบิกจ่ายให้กับร้านอาหารหรือชุมชน

นอกจากนี้ จะมีการออดิทเพื่อตรวจสอบการเบิกจ่าย โดยโทรติดตามสอบถามผู้ป่วยว่าได้รับบริการจริงหรือไม่ ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยบริการเก็บเอกสารหลักฐานการให้บริการ ซึ่งอย่างน้อยควรมีสัญญาจ้างกับร้านอาหารเอาไว้ด้วย

จเด็ด
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี

เช่นเดียวกับในส่วนของร้านอาหาร ที่ควรมีการเก็บข้อมูลการให้บริการผู้ป่วย เพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันหากเป็นกรณีของ HI-CI บางแห่งที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ให้การดูแล และใช้งบประมาณของ อปท.ในการจัดหาอาหารให้กับผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งบของรัฐแล้ว ทาง สปสช.ก็จะไม่จ่ายซ้ำซ้อนอีก

สำหรับกรณีนี้ จะจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการที่ให้การดูแลผู้ป่วย เฉพาะในส่วนของการเหมาจ่ายค่าบริการดูแลวันละ 600 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแทน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo