Business

ผวายกคณะ!! มท.1 ยอมถอนวาระต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวอีก 30 ปี

รถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดเบื้องหลัง “มท.1” ยอมถอนวาระขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว “สมุทรปราการ-แบริ่ง-หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ออกไปอีก 30 ปี แลกค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย จากที่ประชุมครม. หลังกระแสรัฐมนตรีในพรรคร่วม ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการต่อสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นตามระเบียบกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล หวั่นเจอปัญหาฟ้องร้อง ติดคุกยกคณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (19 ต.ค.) เดิมในวาระการประชุม ครม. กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอบรรจุวาระ เพื่อขออนุมัติความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต่อ ครม.ที่จะต่อขยายสัญญาสัมปทานให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า บีทีเอส ไปอีก 30 ปี จากเดิมสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดปี 2572 ขยายต่อไปสิ้นสุดปี 2602 โดยอ้างว่าค่าโดยสารจะจัดเก็บตลอดสายที่ 65 บาท แต่พบว่าได้มีการถอนวาระดังกล่าวออกไป

วาระพิจารณาดังกล่าว เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณามานานแล้ว โดยเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้เคยมีการนำเข้าครม.มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ถูกให้ถอนเรื่องออกจากการพิจารณาเช่นกัน โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ไปศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนก่อน และให้ขอความเห็นเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ก่อนที่จะนำเสนอครม.ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ล่มมท.1 ถอนวาระต่อสัญญาสัมปทาน

ก่อนหน้านี้ ครม.ได้ขอความเห็นประกอบการพิจารณา จากกระทรวงคมนาคม ทางกระทรวงคมนาคมได้เสนอความเห็น เรื่องขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  ไปให้ในการประชุม ครม. รวม 7 ครั้ง รวมทั้งของวันที่ 19 ตุลาคมนี้ด้วย ว่ากระทรวงคมนาคมยืนยันตามหลักการ 4 ประเด็น ที่ไม่เห็นด้วย ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทย และขอให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจน ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย

1. ประเด็นความครบถ้วนตามหลักการของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562

2. ประเด็นการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ รวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารสูงสุดได้ต่ำกว่า 65 บาท

3. ประเด็นการใช้สินทรัพย์ของรัฐ ที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรพิจารณาให้เกิดความถ่องแท้ถึงการใช้สินทรัพย์ว่ารัฐควรได้ประโยชน์จากการขยายสัญญาสัมปทานเป็นจำนวนเท่าไร อย่างไร จนกว่าจะครบอายุสัญญา

4. ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นจากกรณี กทม. ได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ ส่วนต่อขยายที่ 2 ไปจนถึงปี 2585 และได้มีการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดังนั้นจึงสมควรรอผลการไตร่สวนข้อเท็จจริงก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจน

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมได้รับตลอดจนการตรวจสอบขั้นตอนกฎหมาย ระเบียบ ครม. และสัญญาที่ กทม.ผูกพันธ์ไว้กับคู่สัญญาเดิมปี 2535 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล กระทรวงคมนาคม มีความเห็นว่า

1. หากกทม.จะขยายต่อสัญญาสัมปทานในช่วงที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คมนาคมเห็นควรที่จะให้ กทม.ชำระหนี้สินให้แก่ รฟม.ก่อน เพื่อเป็นไปตามมติ ครม. และเป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เรียบร้อยก่อน ที่จะเริ่มกระบวนการจัดหาผู้ให้บริการในโครงข่ายสีเขียวส่วนต่อขยาย

2. หาก กทม.ไม่มีความประสงค์ให้บริการสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อไป ด้วยการไม่ปฎิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 คมนาคมเห็นควรให้เสนอ ครม.ทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ก่อน และมอบหมายให้ รฟม.ดำเนินการตามระเบียบ

3. หากมีการต่อขยายสัญญาสัมปทาน บริษัทต้องแจ้งความประสงค์ไปยัง กทม.ในเวลาไม่มากกว่า 5 ปี และไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนวันสิ้นสุดสัญญา และต้องได้รับการอนุมัติจาก ครม.ก่อน  เหตุผลที่ต้องกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการทราบก่อนเวลา เนื่องจากต้องให้หน่วยงานที่กำกับต้องพิจารณาความคุ้มค่าของโครงการร่วมทุนที่เปลี่ยนไปทั้งอัตราเงินเฟ้อ และ ดัชนีผู้บริโภค

4. กรณี กทม. มีภาระหนี้จากการว่าจ้างเอกชนติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้า และว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วน ที่ได้ทำเมื่อปี 2559 เห็นควรให้มีการตรวจสอบถึงสัญญาว่า มีความชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อมูลหนี้ดังกล่าวว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ครม.ผวาติดคุกข้อเสนอขยายสัมปทาน 30 ปี 

จากการศึกษาและประกอบความเห็นยังพบว่า ผลประโยชน์ของภาครัฐที่จะได้รับ ตลอดระยะเวลาสัมปทานถึงปี 2602 ตามที่กระเทรวงมหาดไทยเสนอต่อขยายอายุสัญญา 30 ปี กรณีที่รัฐดำเนินการเองจะมีผลประโยชน์สูงกว่ากรณีที่ให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ จากผลการศึกษาพบว่า กรณี กทม.ดำเนินการเองภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิ (ปี 2562) จำนวน 467,822 ล้านบาท  หาก กทม. ให้เอกชนดำเนินการโดยเริ่มจากปีที่หมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิในปี 2602 จำนวน 32,689.3 ล้านบาท  หมายถึงหากรัฐดำเนินการเองจะมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่ากรณีให้เอกชนสูงถึง 435,132 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า จากกรณีที่มีการผลักดันให้มีการจ่อขยายสัญญาสัมทานในหลายๆ ครั้ง ได้มี รัฐมนตรีทั้งในกลุ่ม ที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ต่างไม่เห็นด้วยกับวาระดังกล่าว เนื่องจาก กระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขระเบียบ มติ ครม. รวมถึง หลักธรรมาภิบาล ทำให้รัฐมนตรีหลายคน ถึงกับขอว่าหากมีวาระดังกล่าว พิจารณาอนุมัติจริง จะขอให้บันทึกว่า ไม่เห็นด้วยต่อการขยายต่อสัญญาสัมปทาน หากมีข้อร้องเรียน หรือฟ้องร้อง อาจจะถูกดำเนินคดีได้ จึงเป็นเหตุทำให้กระทรวงมหาดไทย ถอนวาระดังกล่าวออกไป 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight