Business

คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้โต 6% ขาดแคลนพลังงานกระทบในไตรมาส 4

เศรษฐกิจจีน ปี 2564 คาดลดลงในกรอบ 7.5 – 8.0% จากความเสี่ยงด้านวิกฤติพลังงานที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว แต่คาดว่าทางการจีนจะประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 6.0%

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3/2564 เผชิญกับประเด็นทางเศรษฐกิจทั้งภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ทางการตอนกลางของประเทศ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดท่าเรือส่งผลต่อการขนส่งชะงักงัน ปัญหาพลังงานขาดแคลนจากมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมและจากการนำเข้าถ่านหินที่ลดลงผลจากความตึงเครียดทางการค้ากับออสเตรเลีย รวมถึงความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์จากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่

เศรษฐกิจจีน

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนนั้นมีอย่างจำกัด ทำให้ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2564 นี้ชะลอตัวที่ 4.9% ต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2564 ที่ขยายตัว 18.3% และไตรมาส 2/2564 ที่ 7.9% ตามลำดับ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ภาคการผลิตจีนถูกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและปัญหาพลังงานขาดแคลน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยขยายตัวในกรอบ 9.0 – 10.7% ในไตรมาสที่ 3 นี้ จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ถ่านหิน เหล็ก และเคมีภัณฑ์ที่ราคายังคงสูงต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังถูกกดดันจากปัญหาวิกฤติด้านพลังงาน จากทั้งมาตรการควบคุมทางสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ และจากต้นทุนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าชะลอการผลิตท่ามกลางอุปสงค์ที่สูง ส่งผลให้ภาคการผลิตจีนเติบโตอย่างชะลอตัว สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่เติบโตในกรอบ 3.1-6.4% ในไตรมาสนี้ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวในกรอบ 8.3 – 9.8%    

ภาคการบริการจีนได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากพบการแพร่ระบาดโควิด-19 ชนิดกลายพันธ์เดลต้าช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ที่เริ่มจากมณฑลเจียงซูก่อนจะลุกลามไปกว่า 31 มณฑล ทางการจีนได้ใช้มาตรการเข้มข้นสกัดกั้นการลุกลามของเชื้อตามนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ในการปิดเมือง ส่งผลให้ภาคบริการของจีนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง สะท้อนจากตัวเลขการค้าปลีก (Retail Sale) ขยายตัวเพียง 2.5% ในเดือนสิงหาคม และสะท้อนผ่านตัวเลข PMI (Caixin) ภาคบริการในเดือนสิงหาคม ที่ปรับตัวลงมาที่ 46.7 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลาง 50.0 บ่งชี้ว่าภาคบริการโดยทั่วไปมีการหดตัว ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกหลังจากจีนฟื้นตัวจากโควิด

การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกกดดันจากทั้งมาตรการของรัฐและแรงกดดันจากตลาด แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยทั่วไปยังขยายตัวที่ 7.3% แต่ความกังวลของภาคเศรษฐกิจกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น หลังข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ทำให้อาจมีผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอาจจะชะลอลง แม้ว่าทางการจีนมีความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ให้มีการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม

การส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในสามไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัว 22.7% แตะระดับ 15.55 ล้านล้านหยวน โดยหากเทียบเฉพาะไตรมาสที่ 3 ของปีนี้กับปีที่แล้ว การส่งออกขยายตัว 14.04% ผลจากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งของประเทศคู่ค้า โดยสินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวโดดเด่นได้แก่ อุปกรณ์ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก แผง LCD ของเล่นเด็ก ปุ๋ย และสินแร่หายาก ขณะที่ มีการหดโตในผลิตภัณฑ์ผ้าและด้ายทอ

ด้านการนำเข้าของจีนในสามไตรมาสแรกขยายตัว 22.6% แตะระดับ 12.79 ล้านล้านหยวน โดยสินค้านำเข้าที่มีการขยายตัวโดดเด่นได้แก่ เมล็ดธัญพืช ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฮเทค แร่เหล็กและแร่ทองแดง น้ำมันดิบ

ทั้งนี้ การเพิ่มของมูลค่านำเข้าของ แร่เหล็กและแร่ทองแดงรวมถึงน้ำมันดิบ เกิดขึ้นจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้น มากกว่าปริมาณนำเข้าที่สูงขึ้น ทั้งนี้ ในสามไตรมาสแรกของปี อาเซียนยังครองตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ 

มองไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง จากทั้งฐานที่สูงในปีก่อน และจากปัจจัยความไม่แน่นอนที่รุมเร้า โดยเฉพาะวิกฤติพลังงานขาดแคลนที่อาจจะลากยาวข้ามช่วงฤดูหนาวของปี

แม้ว่าทางการจีนจะพยายามอย่างต่อเนื่องในการหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ทดแทนการใช้ถ่านหิน อย่างไรก็ดี ถ่านหินยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักของจีนในการใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งอุปทานถ่านหินที่ลดลงจากทั้งจากทั้งมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมของภาครัฐและการนำเข้าที่ลดลงผลจากความขัดแย้งทางการค้ากับตลาดนำเข้าถ่านหินหลักอย่างออสเตรเลีย กดดันราคาถ่านหินให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ผลิตเพิ่มขึ้นสูงและทำให้อาจชะลอการผลิตออกไป ซึ่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจีนยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม จากความเชื่อมโยงที่สูงระหว่างห่วงโซ่การผลิตจีนและโลก  การชะงักงันภาคผลิตของจีนอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลก (Global Supply Chain) ได้ 

ในฐานะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนสูงถึง 24% ในปี 2563 และสินค้าส่วนใหญ่เป็นการผลิตในอุตสาหกรรมหนัก ดังนั้นการชะงักงันของภาคผลิตจีนจากการขาดแคลนพลังงาน และต้นทุนทางพลังงานที่สูงขึ้น อาจส่งผลต่อปริมาณที่ลดลงและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ในสินค้าที่มีการผลิตโดยการใช้พลังงานเข้มข้น อาทิ เหมืองแร่ เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรหนัก พลาสติก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทั้งปี 2564 ลงมาในกรอบ 7.5 – 8.0% จากความเสี่ยงด้านวิกฤติพลังงานที่อาจจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจมีผลจะกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั้งภาคผลิตและภาคบริการ กอปรกับปัญหาเดิมที่ยังคั่งค้าง อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่ส่งกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และบรรยากาศการลงทุนของจีนในภาพรวม รวมถึงความเสี่ยงด้านสงครามทางการค้าที่ยังไม่คลี่คลาย และการออกมาตรการของทางการในการควบคุมธุรกิจต่าง ๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ เชื่อว่าทางการจีนจะประคับประคองเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือขยายตัวทั้งปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 6.0%

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo