Business

กสอ.เสริมแกร่ง ‘SMEs เกษตรแปรรูป’

การทำธุรกิจแน่นอนว่า ผู้ประกอบการทุกคนย่อมมีเป้าหมาย ที่จะนำพาธุรกิจให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตและมีกำไรที่ดี แต่การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเก่าหรือรายใหม่ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปรับกลยุทธ์และเตรียมตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ

นอกจากนี้ การได้รับคำปรึกษาและการเพิ่มศักยภาพให้แข็งแกร่งจากหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดี กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงมี “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ กระบวนการผลิต และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้ระยะเวลาในการดำเนินงาน 3 เดือน

สมชาย หาญหิรัญ
นายสมชาย หาญหิรัญ

“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ อุตสาหกรรมขั้นต้น อุตสาหกรรมขั้นกลาง และอุตสาหกรรมขั้นปลาย ซึ่งผู้ประกอบการต้องมีความรู้ทั้ง 3 ส่วนอย่างครบถ้วน จึงจะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง”  นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปควรตระหนักเมื่อคิดที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจ

“กสอ. ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อเข้าไปร่วมวิเคราะห์ และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตให้กับผู้ประกอบการแต่ละราย พบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่ทุกรายจะต้องได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพ คือการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม” นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)  กล่าว

กสอ.ได้สรุปผลการดำเนินโครงการดังกล่าว พบว่า มีผู้ประกอบการได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ดังนี้

  • การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 53%
  • การตลาด 27%
  • การบริหารจัดการธุรกิจ 6%
  • ด้านวัตกรรมและเทคโนโลยี 6%
  • อื่น ๆ 8%

ซึ่งนับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสิ่งที่แสดงถึงความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจน คือ โครงการนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ให้กับผู้ประกอบการดังกล่าวจำนวน 2,000 กิจการ สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท คิดเป็นต้นทุนที่ลดลงกว่า 700 ล้านบาท และคิดเป็นของเสียที่ลดลงกว่า 200 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ กสอ. ยังได้เปิดเวทีเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งนักสร้างแรงบันดาลใจและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด มาแบ่งปันข้อมูลและมุมมองที่มีประโยชน์ให้กับผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมองในทิศทางเดียวกันว่า การจะเป็นผู้ประกอบการในยุค 4.0 ให้ได้นั้น จะต้องมีความพร้อมในธุรกิจอย่างรอบด้าน

พฤฒิ เกิดชูชื่น
นายพฤฒิ เกิดชูชื่น

“ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจ จะต้องมีการปรับตัวอยู่เสมอ การเข้าร่วมโครงการ กับ กสอ.นับว่าได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ทำให้บริษัท สามารถวิเคราะห์จุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งบริษัทได้รับคำแนะนำให้ปรับระบบจากเดิมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต” นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตนมและโยเกิร์ตภายใต้แบรนด์ “แดรี่ โฮม” กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ

กิติชัย วงษ์เจริญสิน
นายกิติชัย วงษ์เจริญสิน

“ปัจจุบันธุรกิจของบริษัท ถูกขับเคลื่อนโดยผู้บริหาร Gen ที่ 3 การเป็นซัพพลายเออร์ด้านการฟอกหนัง ให้กับแบรนด์ดังระดับโลกนั้นต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ลูกค้าตั้งไว้” นายกิติชัย วงษ์เจริญสิน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานฟอกหนังอันดับต้น ๆ กล่าวถึงปัญหาที่พบและการได้รับคำแนะนำ ด้านการสร้างแรงบันดาลใจและการตลาด ทำให้ผู้ร่วมงานได้รับเทคนิคการเตรียมพร้อมธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

บอย วิสูตร แสงอรุณเลิศ 2
นายบอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ

“ส่วนใหญ่แล้วผู้ประกอบการ SMEs มักจะบริหารจัดการทุกอย่างด้วยตนเองเกือบทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ธุรกิจเติบโตยาก ดังนั้น การสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ควรจัดลำดับความสำคัญและบริหารเวลาให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ยังมี 3 สิ่งที่ผู้ประกอบการ ขาดไม่ได้ นั่นคือ สินค้าที่ดี องค์ความรู้ และการกระจายสินค้า หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป ควรจะพบที่ปรึกษาเพื่อรับคำแนะนำ” นายบอย-วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักสร้างแรงบันดาลใจ กล่าว

“อยากให้จับตาเศรษฐกิจในปีหน้าของประเทศ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด และไม่ว่าทิศทางจะออกมาดีหรือไม่ ผู้ประกอบการทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างรอบด้าน แม้ว่าเราจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว แต่ถ้าผู้บริโภคไม่รู้จักแบรนด์ของเรา ก็ทำตลาดได้ยากเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการต้องสร้างแบรนด์ตัวเองให้แข็งแกร่ง” อ.ธันยวัชร์  ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดังของเมืองไทย กล่าว

การเตรียมพร้อมติดอาวุธเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ท่ามกลางหลายปัจจัย ทั้งบวกและลบที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้ทันต่อการแข่งขันในโลกการค้า และพร้อมก้าวสู่ยุค Industry 4.0 ได้อย่างเข้มแข็ง

Avatar photo