Business

คนไทยเจ๋ง!!ยื่นจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร สู้โควิด-19 แล้ว 207 คำขอ

“พาณิชย์” เผยคนไทยยื่นจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร สู้โควิด-19 แล้ว 207 คำขอ รับจดแล้ว 28 คำขอ สวทช.ยื่นคำขอมากสุด ตามด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

น.ส.นุสรา กาญจนกูล รองอธิบดี กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน มีคนไทยที่เป็นนักประดิษฐ์และหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ ได้คิดค้นและพัฒนาผลงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 มายื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ถึง 11 กันยายน 2564 จำนวน 207 คำขอ

สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร

ทั้งนี้ แบ่งเป็นคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ 53 คำขอ และคำขอรับอนุสิทธิบัตร 154 คำขอ โดยเป็นคำขอยื่นใหม่ 48 คำขอ คำขอที่อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ 131 คำขอ ซึ่งกรมฯ ได้จดทะเบียนสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตรแล้ว 28 คำขอ

คำขอสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร แบ่งเป็น 8 กลุ่มการประดิษฐ์

1. ยาต้านไวรัส จำนวน 7 คำขอ

2. วัคซีน จำนวน 7 คำขอ

3. สาร น้ำยา หรือเจลฆ่าเชื้อ จำนวน 16 คำขอ

4. ชุดตรวจและกรรมวิธีการตรวจหาเชื้อ จำนวน 11 คำขอ

5. เครื่องช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค เช่น หุ่นยนต์ขนส่งอาหารในโรงพยาบาล จำนวน 21 คำขอ

6. อุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันละอองฝอย (Face Shield) เป็นต้น จำนวน 64 คำขอ

7. เครื่องมือและอุปกรณ์ฆ่าเชื้อ เช่น ตู้อบฆ่าเชื้อ อุโมงค์หรืออุปกรณ์พ่นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น จำนวน 27 คำขอ

8. ผลิตภัณฑ์ และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร จำนวน 54 คำขอ

นุสรา กาญจนกูล
นุสรา กาญจนกูล

สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันที่มีการยื่นคำขอ มากที่สุด คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวน 29 คำขอ รองลงมา คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 คำขอ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 3 คำขอ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 3 คำขอ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 3 คำขอ เป็นต้น และคาดว่าจะมีการยื่นขอเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ รายงานดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index (GII 2021) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ปี 2564 พบว่า ความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยอยู่ที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศที่เป็นเจ้าของอนุสิทธิบัตรมากที่สุด

ส่วนรายงาน GII 2021 ระบุว่า ไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงขึ้น แม้เป็นช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยยังครองอันดับ 1 ของประเทศที่เอกชนมีการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเป็นอันดับที่ 42 ด้านการพัฒนา ความรู้และเทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม จากเดิมอันดับที่ 86 เมื่อปีที่แล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo