Business

ภารกิจ กสทช.ใหม่ ประมูลคลื่นฯ-กำกับเทคโนโลยี

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา มีมติไม่เห็นด้วยกับผู้สมัครดำรงตำแหน่ง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่า มีผู้สมัครขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม 8 คน จากจำนวนรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหา กสทช.เสนอมาให้ สนช. คัดเลือก 14 คน  ทำให้รายชื่อไม่ครบ 2 เท่า ของจำนวน กสทช. 7 คน ที่ สนช.ต้องทำหน้าที่คัดเลือก จากมติดังกล่าวทำให้  ต้องกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่

พันเอก นที ศุกลรัตน์  รองประธานกรรมการ กสทช. กล่าวว่า การกลับไปเริ่มต้นกระบวนการสรรหา กสทช.ใหม่ ไม่มีผลต่อการทำงานของ กสทช. ชุดรักษาการปัจจุบัน เพราะกระบวนการสรรหายังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นชุดรักษาการปัจจุบันยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

สนช.เห็นว่ากระบวนการสรรหา กสทช. ยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ เพราะทุกฝ่ายต้องการคัดเลือก กสทช.ที่ดี เป็นความหวังของสังคม ในเมื่อการสรรหายังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์และยังไม่ดีพอ  จึงจำเป็นต้องรอกระบวนการให้สมบูรณ์ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดตามความคาดหวังของสังคม

“กสทช.ชุดรักษาการ สามารถปฏิบัติงานได้ปกติ แต่ต้องระวังเรื่องมรรยาทในการทำงาน หากมีชุดใหม่เข้ามาเร็ว ไม่ควรดำเนินการสิ่งที่มีผลเชิงนโยบายที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากคนใหม่ยังไม่มาทำหน้าที่จะต้องมีการกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจน ถึงสิ่งที่ต้องทำ”

พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช.
พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการ กสทช.

 

ภารกิจสำคัญประมูลคลื่นความถี่

ภารกิจสำคัญของ กสทช. ที่ผ่านมา คือ การประมูลคลื่นความถี่ ที่ชุดปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว  จากช่วง 7-8 ปีก่อนที่หลายคนไม่เข้าใจว่า การประมูลคลื่นความถี่ มีความสำคัญอย่างไร  ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นธรรมสำหรับทุกคนและเป็นการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ดีที่สุด และทำให้ทุกคนในประเทศได้รับความยุติธรรม  นำรายได้จากการประมูลมาเป็นรายได้แผ่นดิน  และนำไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะต่าง ๆ

ด้านการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ปัจจุบันดำเนินการไปได้ไกล คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้จะมีการยุติทีวีอนาล็อก และเข้าสู่ยุคดิจิทัลสำหรับกิจการโทรทัศน์โดยสมบูรณ์ ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะในหลายประเทศเปลี่ยนผ่านไม่สำเร็จ

ส่วนในประเทศไทย อาจมี “บางช่อง” ไม่ได้รับความนิยม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ  เพราะสิ่งสำคัญคือ ต้องถามว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร และประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากกิจการบริการสาธารณะดีขึ้นหรือไม่  ถือเป็นคำตอบที่ชัดเจน

“เราได้เห็นทีวี ที่ในอดีตอาจไม่เคยได้เห็นมาก่อน ทั้งช่องข่าว สารคดี  ช่องบันเทิง ภาพยนตร์ เนื้อหาเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวและคุณภาพดีขึ้น”

ทีวีดิจิทัลหลังคดีไทยทีวี

“การบ้าน”ชุดใหม่ ประมูลคลื่น 900/1800

สำหรับภารกิจ กสทช. ชุดต่อไป จะเป็นการดำเนินการ  ดูแลการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี จากปัจจุบันที่มีกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์ แยกจากกิจการโทรคมนาคมชัดเจน แต่วันนี้เทคโนโลยีไม่มีเส้นแบ่ง ดังนั้นกระบวนการกำกับดูแลในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่าน  จะต้องกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์สาธารณะสูงสุด ซึ่งเป็นการบ้านของ กสทช.ชุดใหม่

สิ่งสำคัญที่  กสทช. ชุดใหม่ต้องดำเนินการต่อ เช่น การประมูลคลื่นความถี่ ที่กำลังหมดสัมปทาน คือ คลื่น 1800  และคลื่น 900 แต่ไม่ได้เป็นภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนของ กสทช. ชุดรักษาการต้องเร่งดำเนินการ แต่เห็นว่าควรมีการวางกรอบระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะกำหนดการประมูลในช่วงเวลาใด และหากอยู่ในช่วง กสทช.ชุดใดปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น กสทช. ชุดนี้ หรือชุดนั้นทำ

“หากมีระยะเวลาที่ กสทช.ชุดใหม่จะเข้ามาดำเนินการ  กสทช.ชุดรักษาการ ต้องมีมรรยาทในการทำงานด้านการจัดสรรทรัพยากรคลื่นฯ ที่เป็นนโยบายสำคัญ  แต่ขณะนี้ เห็นว่าควรกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า กสทช.ชุดใดก็ตาม ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในช่วงที่กำหนดให้จัดสรรคลื่นฯ  ก็ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว”

อีกประเด็นการกำกับดูแล คือ เรื่องเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันไม่ได้มีความชัดเจนเหมือนสื่อในอดีต ปัจจุบันหลายๆ แพลตฟอร์มได้กลายมาเป็นสื่อ  เป็นสิ่งที่ กสทช. ชุดรักษาการ ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน  แนวทางการกำกับดูแลจะต้องดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสังคม เพราะสื่อยุคใหม่ ก็ไม่สามารถทำเรื่อง hate speech หรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอื่นหรือเยาวชนได้  ไม่ว่าจะเป็นสื่อประเภทใดก็ตาม ที่นำข้อมูลข่าวสาร ภาพวิดีโอ เสนอต่อประชาชนในวงกว้าง และเกิดผลกระทบต่อสังคม จะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่า กสทช. รักษาการ หรือ กสทช. ชุดใหม่ ก็ต้องมาดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน

กสทช.

การทำงานของ กสทช.ชุดใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นกลาง และความยุติธรรม  เพราะหน้าที่ของ กสทช. คือ

  • จัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ให้มีความเป็นธรรม
  • กำกับดูแลการแข่งขัน ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อสังคม
  • การคุ้มครองผู้บริโภค  ไม่ให้ผู้ประกอบกิจการเอาเปรียบผู้บริโภค

ข้อมูลอ้างอิง เฟซบุ๊ค ภัทราพร ตั๊นงาม

‘สนช.’118เสียงคว่ำสรรหา ‘กสทช.’ ชุดใหม่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight