แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดผลสำรวจอัตราเงินเดือน เจาะลึกสายงานรายได้สูง แนวโน้มตลาดงานหลังโควิด แนะภาคธุรกิจปรับแผนกำลังคนรับการเปลี่ยนแปลง
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มด้านค่าตอบแทนในกลุ่มสายงานต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอัตราเร่งให้ทุกองค์กรมีการปรับวิถีชีวิตและการทำงานสู่รูปแบบใหม่ จากวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สู่วิถีชีวิตถัดไป (Next Normal)
ขณะที่รูปแบบการทำงานขององค์กร เปลี่ยนไปเป็นการทำงานได้จากทุกที่ ทุกเวลา “Work Anywhere Anytime” เป็นการทำงานแบบรีโมทและทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในแต่ละองค์กรมีค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ขึ้นอยู่กับกลุ่มธุรกิจ โดยโครงสร้างเงินเดือนของบุคลากรในสายต่างๆ ตั้งแต่ระดับบัณฑิตจบใหม่ ไปจนถึงระดับผู้บริหาร โดยเริ่มตั้งแต่ต้นที่ 15,000 ไปจนถึง 850,000 ต่อเดือน ทั้งนี้อยู่กับคุณสมบัติและประสบการณ์ ทักษะด้านเทคโนโลยีและทักษะด้านภาษา ดังนี้
อัตราเงินเดือน การจ้างงานแบบพนักงานประจำ ในระดับผู้จัดการ จนถึงระดับผู้บริหาร
- งานระดับผู้บริหาร ระดับเงินเดือน เริ่มต้นอยู่ที่ 67,200 – 850,000 บาทต่อเดือน
- งานทรัพยากรมนุษย์ ระดับเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 42,000 – 340,000 บาทต่อเดือน
- งานบัญชีและการเงิน เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 40,000 – 189,500 บาทต่อเดือน
- งานขายและการตลาด เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 45,000 – 460,000 บาทต่อเดือน
- งานภาคการผลิตและวิศวกร เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 55,000 – 250,000 บาทต่อเดือน
- งานบริการลูกค้า เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 48,000 – 120,000 บาทต่อเดือน
- งานบริการสำนักงาน เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 35,000 – 120,500 บาทต่อเดือน
- งานซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 28,000 – 250,000 บาทต่อเดือน
- กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 42,000 – 340,000 บาทต่อเดือน
- งานด้านไอที เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 40,000 – 525,000 บาทต่อเดือน
อัตราเงินเดือน กลุ่มงานสัญญาจ้าง งานชั่วคราว รวมถึงงานโปรเจกต์ ในระดับผู้จัดการเป็นต้นไป
- งานบริการลูกค้าเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 60,000 – 120,000 บาทต่อเดือน
- งานบัญชีและการเงินเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 50,000 – 100,000 บาทต่อเดือน
- งานขายและการตลาดเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 35,000 – 80,000 บาทต่อเดือน
- เภสัชกรรมและสุขภาพการแพทย์เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 150,000 – 200,000 บาทต่อเดือน
- งานภาคการผลิตและช่างเทคนิคเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 120,000 – 200,000 บาทต่อเดือน
- งานโครงการโยธาเงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 70,000 – 120,000 บาทต่อเดือน
ในส่วนการจ้างงานชาวต่างประเทศในระดับผู้บริหาร ในกลุ่มหัวหน้าฝ่าย ผู้อำนวยการ ประธานเจ้าหน้าที่ และกรรมการผู้จัดการ เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 140,000 – 1,000,000 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในแต่ละสายงาน มีตัวเร่งและปัจจัยในการขับเคลื่อนที่แตกต่างกันบ้างตามแต่ละสายงาน แต่มีหนึ่งเครื่องมือที่ในยุคดิจิทัลปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การนำเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในการทำงาน ส่งผลให้บุคลากรต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอด ทั้งการรีสกิล (Reskill) และ อัพสกิล (Upskill) เพื่อมาช่วยในการทำงาน รวมทั้งทักษะการทำงานร่วมกัน การสื่อสารที่เข้าใจและทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทักษะความสามารถเฉพาะทางที่สำคัญเหล่านี้นับเป็นการสร้างความได้เปรียบ รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรชั้นนำอีกด้วย
สำหรับการก้าวสู่ยุคความปกติถัดไป (Next Normal) ทิศทางแรงงานอาจเปลี่ยนแปลงไป เปิดกว้างสำหรับการจ้างงานแบบระยะสั้นประเภทต่าง ๆ มากขึ้น สำหรับวิถีชีวิตและการทำงานแบบออนด์ดีมานด์ ได้ทุกที่ ทุกเวลา บูรณาการเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวเข้าด้วยกัน เพราะความสำเร็จอยู่ที่การออกแบบชีวิตของแต่ละคน
นายไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจต่าง ๆ รวมทั้งแรงงานต้องปรับตัวให้พร้อมรับมือ
จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้องค์กรจำเป็นต้องปฏิรูปวิธีการทำงาน รวมถึงการวางแผนกำลังคน การตรวจสอบทักษะและความสามารถของพนักงานที่จำเป็น เพื่อการปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทยยังได้เห็นสัญญาณของตลาดงานในปีนี้ ซึ่งมีการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พร้อมยังเห็นทิศทางการจ้างงานระยะสั้นประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะการจ้างงานแบบเอาท์ซอร์ส (Outsource) เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระยะสั้นเป็นสำคัญ ผู้ประกอบการต่างๆ ปรับเปลี่ยนองค์กรมีให้ความยืดหยุ่น คล่องตัว และใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ภาคแรงงานกำลังเร่งเพิ่มทักษะ (Upskill) และทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อรองรับรูปแบบการทำงานและอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่
อย่างไรก็ตาม นายจ้างจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตด้านกำลังคน (แรงงาน) และแผนการจัดการความปลอดภัยของพนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากการติดตั้งมาตรการคัดกรองที่ชัดเจนและเป็นระบบ ตรวจโควิดก่อนกลับไปทำงาน รวมถึงการสวมหน้ากาก การล้างมือ การฉีดวัคซีน การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ เป็นต้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม